ไทยรัฐ - สธ.เตือนวัยรุ่นที่ไม่ได้อ้วนจริงแต่พึ่งยารีดไขมัน หวังผอม-หุ่นดีเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีใช้ อาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์ รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า ระบุฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นอาการซึมเศร้าให้รุนแรงขึ้น...
เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระแสนิยมของวัยรุ่นไทยนักเรียน นักศึกษา จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงและหญิงข้ามเพศ มีค่านิยมที่จะต้องมีรูปร่างผอมมาก เพรียว คล้ายการ์ตูนญี่ปุ่น จึงจะเรียกว่ามีรูปร่างดี เพื่อที่จะสวมใส่เสื้อผ้าทันสมัยซึ่งมีขนาดเล็กมากได้ ทำให้วัยรุ่นที่อ้วน หรือเพียงแค่รู้สึกว่าตัวเองอ้วน หันมาลดน้ำหนักทางลัดคือ ไม่ออกกำลังกายสลายไขมัน แต่เข้าสถานบริการลดความอ้วน ซึ่งมีเปิดบริการในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือใช้ยาลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี จากการบอกต่อปากต่อปากจากเพื่อนที่ใช้ โดยสั่งซื้อยาทางอินเทอร์เน็ต จากร้านขายยาหรือสถานบริการลดความอ้วน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารเสริม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ได้รับผลข้างเคียงหรือพิษภัยจากการลักลอบใส่ยาลดความอยากอาหารดังกล่าว จนบางรายถึงกับเสียชีวิต เช่น ได้รับยาเกินขนาด มีโรคประจำตัวและห้ามใช้ยาประเภทนี้
เภสัชกรประพนธ์ กล่าวว่า ยาลดความอ้วนที่ใช้กันในปัจจุบัน มี 2 กลุ่ม คือยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้ ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหารและยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางเพื่อลดความอยากอาหาร กินแล้วไม่หิวง่าย เช่นเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine), เด็กซ์เฟนฟลูรามีน (Dexfenfluramine), ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่ง อย.ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และ 2553 ตามลำดับ จึงทำให้ในประเทศไทยไม่มีการใช้ยาดังกล่าวแล้วเนื่องจากมีข้อมูลการใช้ยาไซบูทรามีนในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) และการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก (stroke) ได้ ที่เป็นปัญหาขณะนี้พบว่ามีการลักลอบเข้ามาทั้งสารเคมีหรือเป็นตัวยา
“ผลิตภัณฑ์อาหารที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตว่าลดความอ้วน หรือควบคุมน้ำหนักได้นั้น ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด และขอให้ตั้งข้อสังเกตได้เลยว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงการลักลอบใส่สารลดน้ำหนักที่เป็นอันตราย และผิดจากวัตถุประสงค์การอนุญาตของ อย.ที่กำหนดคำนิยามของอาหารว่าเป็นของกิน หรือเครื่องค้ำจุนชีวิต กรณีแสดงสรรพคุณลดน้ำหนัก ไม่ถือว่าเป็นอาหาร แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์อาจจะบอกว่าเป็นน้ำผลไม้ หรือเป็นสารสกัดก็ตาม ถือว่าเป็นการแสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือแสดงสรรพคุณที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่าเป็นความผิด” เภสัชกรประพนธ์ กล่าว
เภสัชกรประพนธ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังพบการใช้ยาเฟนเตอมีน (Phentermine) ที่ จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งห้ามการผลิต ขาย นำเข้าและส่งออก โดยต้องดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพียงผู้เดียวเท่านั้นหากโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ จะใช้ต้องมาสั่งซื้อจาก อย. เท่านั้น ตลอดจนการใช้ยาดังกล่าวต้องมีแพทย์เป็นผู้ที่สั่งใช้โดยตรงปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ ได้แนะนำประเทศสมาชิก เฝ้าติดตามการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มนี้ เนื่องจากพบว่ามีการใช้ยาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศมีรายงานการใช้ยาในทางที่ผิด และพบว่าหาซื้อยาได้จากตลาดมืด
“คนที่ใช้ยาลดความอ้วนขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มคนอ้วนจริงเมื่อวัดค่าดัชนีมวลกายหรือค่าบีเอ็มไอ (BMI : Body Mass Index) มักพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่คนกลุ่มนี้ต้องการลดความอ้วน ซึ่งมักเกิดมาจากกระแสเลียนแบบดารา หรือต้องการทำตามเพื่อนผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยาลดความอ้วน คือนอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่า ท้องผูก หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการติดยาได้” เภสัชกรประพนธ์กล่าว
เภสัชกรประพนธ์ กล่าวอีกว่า ยาลดความอ้วน ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นอาการซึมเศร้าให้รุนแรงขึ้น และห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เนื่องจากเป็นวัยกำลังเจริญเติบโต ยาอาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์ในวัยหนุ่มสาว และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับผลของยา รวมทั้งห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ด้วย เนื่องจากจะส่งผลถึงเด็กในครรภ์ทำให้เด็กพิการ หรือเสียชีวิตได้ การใช้ยาลดน้ำหนักที่ถูกต้อง จะต้องอยู่ภายใต้การสั่งใช้และการควบคุมโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด ใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะยาลดน้ำหนักไม่สามารถรักษาโรคอ้วนให้หายขาด เมื่อหยุดยา น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นได้อีก
สำหรับการหาค่าดัชนีมวลกาย เพื่อประเมินว่าตนเองอ้วนหรือไม่นั้น มีวิธีการคิดง่ายๆ คือนำน้ำหนักตัว ซึ่งหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลังสอง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานสากล ค่าปกติอยู่ที่ 18-25 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร โดยแพทย์มักจะเริ่มใช้ยาลดความอ้วน หากมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรืออาจให้ในกรณีที่ค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัม/ตารางเมตรและมีความเสี่ยงเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ
ทั้งนี้ หากประชาชน มีข้อสงสัย หรือมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ปรึกษาสายด่วน อย.1556 หรือสามารถไปร้องเรียนได้ด้วยตนเองพร้อมนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปด้วยที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี ส่วนภูมิภาคติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 63 views