เดลินิวส์ - บ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวเด็กอายุเพียงแค่ 13-14 ปี หรือต่ำกว่านั้น ยังมีคำนำหน้าว่า "เด็กชาย" ก่อคดีลักทรัพย์ ฉกชิง วิ่งราว ล่าสุดที่เป็นข่าวคือ รวมตัวกันเป็นแก๊งฟันน้ำนมก่อเหตุปล้นผู้ประกาศข่าวสาวช่อง 9 คงทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไมเด็กอายุแค่นี้ถึงได้ริอ่านก่อคดี มีปัจจัยหรือสาเหตุจากอะไร
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กอายุขนาดนี้ก่อคดีมีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว
ปัจจัยจากตัวของเด็กเอง เด็กอาจจะมีปัญหา หรือโรคอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำให้การเรียนหนังสือไม่ประสบความสำเร็จ เรียนไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นก็ จะชอบทำอะไรหวือหวาอยู่แล้ว หรือเด็กมีปัญหาการเขียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ได้ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน หรือเด็กบางคนไม่ถึงขั้นปัญญาอ่อน แต่เรียนรู้ช้ามีปัญหาในการเรียน เอาตัวรอดไม่ได้ ก็เลยไปรวมแก๊งกับเพื่อนดีกว่าโดนรังแก อยู่ในแก๊งดีกว่าถูกแก๊งรังแก ถูกแกล้ง เด็กอายุขนาดนี้อยู่ในช่วงวัยรุ่นนี้ต้องมีกลุ่ม พอเรียนหนังสือไม่เก่งจะให้มาตั้งใจเรียนคงเป็นไปไม่ได้
ปัจจัยจากการเลี้ยงดู ขึ้นอยู่กับว่าเด็กเห็นภาพการรังแกกันเยอะขนาดไหน เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยมั้ย ทะเลาะกับตัวเด็กบ่อย มั้ย ตีเขา ว่าเขาบ่อยมั้ย เวลามีปัญหาในบ้านเขาเคยถูกสอนวิธีการที่จะจัดการอารมณ์ของตัวเองหรือไม่ว่าถ้าหงุดหงิดต้องเก็บอารมณ์ตัวเองมากน้อยขนาดไหน
เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้โตมาในลักษณะที่ถูกอบรมสั่งสอนอะไรที่พอเหมาะพอควร เขาโตมาบนความยากลำบากกว่าเด็กทั่วไป บางคนพ่อแม่ไม่ว่างที่จะดูแล พ่อแม่หย่าร้าง ถ้าลองไปพูดคุยกับเด็กเหล่านี้เขาก็ไม่อยากเป็นอย่างนี้หรอก ถ้าสามารถไปจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาให้เอื้อต่อการให้เขากลับมาได้ เด็กพวกนี้เขาอยากกลับ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่กลับมาไม่ได้จริง ๆ เพราะเลยจุดนั้นไปแล้ว ความจริงเขาไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้น แต่จะให้เขาทำอย่างไร เรียนหนังสือก็ไม่เก่ง ได้เท่านี้ จะให้ไปโรงเรียนที่มีแต่เด็กพฤติกรรม ดี ๆ แล้วเขาจะมีปัญญาเข้าหรือ ก็ได้แต่เรียนในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เพื่อนก็เหมือนเดิม คือเขาไม่มีทางเลือก
ถ้าจะดูแลรักษาพวกเขาต้องดูว่าเด็กมีโรคอะไรหรือไม่ และต้องร่วมด้วยช่วยกันตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน โดยครอบครัวต้องปรับเรื่องการดูแล ระเบียบวินัย เวลาเด็กมีปัญหาต้องมีวิธีจัดการที่หลากหลาย โรงเรียนต้องมีระบบในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ เช่น ตกเย็นให้ เด็กทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง อย่างเด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง ก็มีชมรมให้เด็กได้ทำกิจกรรม ทำให้เด็กชื่นอกชื่นใจได้บ้าง การแก้ไขปัญหาตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรม ไม่ใช่โรค ดังนั้นต้องเชื่อมโยงกันหมด รวมถึงสื่อต่าง ๆ ด้วย
ถามว่าเด็กกลุ่มนี้เจอเยอะมั้ย ถ้าเป็นพฤติกรรมที่ไม่รุนแรงจนก่อคดี อาจพบการรวมแก๊งกันของเด็กไถเงินรุ่นน้องในโรงเรียน แต่ถ้าถึงขั้นก่อคดีส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว ใกล้จะหลุดจากระบบการศึกษา คือไม่ค่อยเข้าเรียน ไม่ไปเรียนหนังสือ
เหตุที่เจอแต่ในเด็กผู้ชาย เพราะเวลามีปัญหาเรื่องพฤติกรรม เด็กผู้ชายจะแสดงออก ทั้งพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร แสดงอิทธิพล แต่เด็กผู้หญิงเวลามีปัญหามักเก็บตัวแทนที่จะแสดงออกแบบประเจิดประเจ้อ จึงไม่ได้ตั้งแก๊งเหมือนผู้ชาย และความรุนแรงจะน้อยกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเซ็กซ์ การใช้ยาเสพติดมากกว่า
ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ สังคมที่ต้องช่วยกันจัดการ แต่สังคม และวัฒนธรรมบ้านเราแตกต่างกัน การที่จะจัดการเด็กที่ในเขตนี้ จังหวัดนี้ อำเภอนี้ มีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน อย่างบางชุมชนจะให้ทำอย่างไร พ่อแม่เขาขายยาเสพติด ชุมชนก็ขายยา การจะเอาเด็กมาดัดสันดาน ถามว่าดัดเสร็จแล้วเขาไปอยู่ไหน เขาก็ต้องกลับไปบ้านเหมือนเดิม แต่บางสังคมอาจฉุดเด็กขึ้นมาได้ กรุงเทพฯ คงยาก ไม่เหมือนต่างจังหวัด เพราะในต่างจังหวัดอาจจะเอาคนที่อยู่บ้าน เช่น ปู่ย่า ตายายมารวมกันเป็นกลุ่มช่วยกันดูแลเด็กหลังเลิกเรียน เอาเด็กมาทำงาน ช่วยให้เด็กหารายได้ เด็กก็ไม่จำเป็นต้องไปเหลวแหลกที่ไหน หรือบางโรงเรียนครูจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน ทำจิตอาสา ต้องยอมรับว่าเด็กเหล่านี้บางครั้งไม่มีอันจะกิน การจะให้มาเสียเงินเรียนพิเศษคงเป็นไปไม่ได้
ส่วนที่มีคนสงสัยกันมากกว่า ทำไมในละครบางคนเป็นเด็กใฝ่ดี ไม่เกเร ได้ทั้ง ๆที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย? พญ.วิมลรัตน์ กล่าวว่า คงเป็นเพราะชาติที่แล้วเขาทำบุญมาดี ต้องยอมรับว่ามันยากมาก ถามว่ามีไหมก็มี แต่น้อยมาก คือ เขาจะดีได้ต้องมีคนที่ดีที่เขายึดเหนี่ยวได้ เพราะเขาจะไม่ทำผิดเพราะคน ๆ นี้ แต่ชีวิตจริงใครจะเกิดมาใฝ่ดีได้ขนาดนั้นทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยมีตัวอย่างดี ๆ จะไปเรียนรู้ได้อย่างไร.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 ก.พ. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 23 views