ฐานเศรษฐกิจ - กรมบัญชีกลาง จ่อดันประ กาศใหม่ "คุมค่ายาขรก." อีกระลอก หาก 2-3 เดือนนี้ประเมินภาพรวมงบโป่งเกิน 6.2 หมื่นล้านบาท หลังปรับเพิ่มสิทธิ์ 80 รายการ   อธิบดีออกโรงยันเกณฑ์ใหม่พิจารณาถึงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยแล้ว และเจตนาดีนำเงินส่วนที่ลดได้ไปเพิ่มสิทธิ์อื่นที่จำเป็นแต่เบิกไม่ได้ ส่วนความคืบหน้าดึง บ.ประกันร่วมบริหารลดต้นทุน พร้อมลุยหากนโยบายรัฐบาลใหม่

กรณีการควบคุมการสั่งจ่ายยา การเน้นใช้ยาสามัญแทนยาต้นตำรับ การคุมเข้มการเบิกจ่ายยา 9 รายการ ที่มีมูลค่าการสั่งจ่ายยาสูงสุด ส่งผลให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2556  อยู่ที่ 5.98 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2555 และในปีงบประมาณ 2557 นี้  กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ยังคงเดินหน้าควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 หลังประกาศจัดทำหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายา เพื่อเป็นแนวทาง การกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา สำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม2556

ทั้งนี้ตามประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดอัตราการเบิกจ่าย โดยในกลุ่มยาสามัญให้มีการบวกกำไรเบิกจ่ายมากขึ้น ตั้งแต่ 100-200% ขณะที่ยาต้นแบบให้เบิกจ่ายตามราคากลางตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด แต่หากซื้อได้ต่ำกว่าให้เบิกจ่ายบวกกำไรเพิ่มได้ไม่เกิน 3% นั้น

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปีนี้กรมบัญชีกลาง ยังคงต้องควบคุมการเบิกจ่ายไม่ให้ขยายตัวไปกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่ากับปีที่ผ่านมา  จึงเตรียมนำเสนอการจัดทำหลักเกณฑ์ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การเบิกจ่ายยาใหม่ ในระบบสวัสดิการข้าราชการอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีการร้องเรียนจากผู้ป่วยและอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย  จนต้องชะลอประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่จะเริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 ออกไปก่อน  ดังนั้น หลังจากปรับเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาล อาทิ ค่าห้อง ค่าอาหาร และเพิ่มอุปกรณ์การรักษาใหม่ๆ อีก 80 รายการ อาทิ ข้อเข่าเทียม สายบายพาสหัวใจ อุปกรณ์ชิปสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 350 รายการไปแล้ว

ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้กรมบัญชีกลางจะประเมินภาพรวมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ จะขยายตัวไม่เกิน 6.2 หมื่นล้านบาท เท่านั้น  แต่หากเบิกจ่ายเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้และบรรยากาศหารือกับทุกฝ่ายตกลงกันได้ด้วยดี กรมบัญชีกลางจะผลักดันเรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายยาใหม่ พร้อมประกาศใช้ทันที

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว กรมบัญชีกลางมีเหตุผล มีรายงานการศึกษาผลกระทบต่อมาตรฐานการรักษาและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ดีแล้ว และมุ่งดำเนินการด้วยเจตนาดี เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเบิกจ่ายยา  และจะนำเงินส่วนที่ลดได้ไปเพิ่มสิทธิ์อื่นๆ ให้ข้าราชการที่เดิมเบิกไม่ได้

ส่วนความคืบหน้าให้บริษัทประ กันเข้ามาช่วยบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการแทน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายนั้น ยังต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ หากกระทรวงการคลังเสนอมา กรมบัญชีกลางพร้อมดำเนินการต่อทันที จากช่วงที่ผ่านมานี้เคยศึกษาความเป็นไปได้ไม่มีความคืบหน้าด้านนโยบาย ขณะเดียวกันกรมบัญชีกลางหันควบคุมด้วยวิธีอื่น เช่น จับกุมขบวนการช็อปปิ้งยา ลดรายการเบิกจ่ายที่ไม่จำเป็น เหลือ 90 รายการจาก 200 รายการ เพิ่มสิทธิ์ด้านอื่นๆ แทน ทั้งนี้ช่วยลดการเบิกจ่ายงบได้ถึง 826 ล้านบาทต่อปี

สำหรับความคืบหน้าในการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพนั้น ขณะ นี้ได้ร่วมกันพิจารณาในเรื่องสิทธิประโยชน์ของการรักษาจากก่อนหน้านี้มีความร่วมมือกันเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถรักษาได้ทุกโรงพยา บาล รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน โดยเตรียมขยายไปยังโรคอื่นๆ อาทิ มะเร็ง และเอดส์ เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 16 - 19 ก.พ. 2557