กระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ คุมเข้มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั้งชนิดขายส่งและขายปลีก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 วันของวันพระใหญ่ ที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ประกอบด้วยวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2552 เป็นต้นมา
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในวันมาฆบูชาในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ขอให้เข้มงวดดำเนินการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งขายส่งและขายปลีก พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศช่วยสอดส่องดูแลพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายโดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์อีกด้วย โดยจะส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกสุ่มตรวจด้วย หากพบมีการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันวาเลนไทน์ และยังเป็นวันครบรอบการตราพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ครบ 6 ปี ซึ่งล้วนเป็นวันที่มีความสำคัญ ทั้งในเรื่องของศาสนา สุขภาพ ความรัก ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเฉลิมฉลอง หรือการให้ของแทนใจกันและกัน ในวันมงคลนี้ ขอให้ประชาชนและเยาวชนคนไทยใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ด้วยการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ เพราะ 1 ปีมีเพียง 4 วันเท่านั้น จึงขอให้ใช้โอกาสนี้เข้าวัดทำบุญเพื่อสร้างกุศล ไม่อุดหนุนน้ำเมา ไม่เข้าใกล้โรคเอดส์ โดยในเทศกาลวันมาฆบูชาในปี 2556 ที่ผ่านมา พบการกระทำผิดขายเหล้าทั้งสิ้น 22 คดี โดยแบ่งเป็นกล่าวโทษ 17 คดี และเปรียบเทียบปรับ 5 คดี
ทั้งนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชาชนไทย พ.ศ.2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้ดื่มในแต่ละกลุ่มอายุ ได้แก่ 15-24 ปี 25-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป มีสถานที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 อันดับแรกเหมือนกัน คือร้อยละ 75 ซื้อจากร้านขายของชำ รองลงมาคือร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านขายของชำมากที่สุดร้อยละ 85 รองลงมาคือภาคใต้ร้อยละ 74 ภาคเหนือร้อยละ 73 โดยผู้ดื่มร้อยละ 70 ดื่มในบ้านตนเอง บ้านเพื่อน มีค่าใช้จ่ายเรื่องนี้เฉลี่ยเดือนละ 509 บาทต่อคน โดยขณะนี้คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปยังคงเป็นนักดื่มจำนวนเกือบ 17 ล้านคน มีผู้ที่ไม่ดื่มและไม่เคยดื่มเลยในชีวิต จำนวน 32 ล้านกว่าคน
- 25 views