เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นสพนำเสนอข่าว “กลุ่มหมอโวยลั่น-อย่าเหมาชื่อร่วมไล่ปู” โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์ดังนี้
กลุ่มแพทย์ค้านอ้างชื่อล้มรบ.
นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ แพทย์ประจำ ร.พ.นครพิงค์เชียงใหม่ ในฐานะตัวแทนกลุ่มเพื่อนสาธารณสุข เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ร่วมกับนพ.ธีรวัฒน์ วงศ์ตัน ตัวแทนกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย, พล.ร.ต. นพ.สมยศ สำราญบำรุง ตัวแทนกลุ่มแพทย์ และผู้รักประชาธิปไตย ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรมว.สาธารณสุข ผ่านไปยังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีว่า กลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ร่วม 800 คนทั่วประเทศ ห่วงใยต่อสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ จึงขอแสดงความเห็นดังนี้
อย่าลากสถาบันเข้าไปเกี่ยว
1.เรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการอ้างตำแหน่ง หรือสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งองค์กรจะมีความคิดเห็นทางการเมืองไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด และสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขควรเป็นกลางทางการเมือง เพื่อให้ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนทุกกลุ่ม
2.ขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ห้ามมิให้บุคคลใดเรียกร้อง หรือกระทำการใดเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ การเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการลาออก การเรียกร้องรัฐบาลหรือสภาที่มาจากการแต่งตั้ง หรือการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยน แปลงการปกครอง
3.จากโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการอยู่ทำให้มีปัญหาในการจ่ายเงินชาวนาส่วนใหญ่ซึ่งมีฐานะยากจนมีความเดือดร้อน จึงขอร้องให้ทุกฝ่ายเห็นใจในความเดือดร้อนของชาวนา ไม่ใช้ความเดือดร้อนของชาวนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ชี้เจรจาทางออกดีที่สุด
4.เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตที่ยังเลือกตั้งไม่เสร็จสิ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 ให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบทุกเขตโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ รวมทั้งปัญหาของชาวนาและเราเชื่อว่าการหันมาเจรจากันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุม เพื่อให้ได้ข้อตกลงในการปฏิรูปประเทศตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะนำไปสู่ความสงบและความเจริญของประเทศชาติได้ในที่สุด
อย่าใช้สถานะหมอมาเกี่ยว
ด้านพล.ร.ต.นพ.สมยศ ประธานกลุ่มแพทย์และผู้รักประชาธิปไตย กล่าวว่า แพทย์ไม่ควรนำองค์กรมาเป็นเครื่องมือการเมือง ถึงแม้แพทย์มีสิทธิ์แสดงความเห็นทางการเมืองได้แต่ในนามบุคคล ไม่ได้มีสิทธิ์ทางการเมืองมากกว่าประชาชน และไม่ควรใช้สถานะของตนเองมาเพิ่มน้ำหนักให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
เลขาฯแพทยสภาย้ำเป็นกลาง
ส่วนนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่าในฐานะตัวแทนผู้ประกอบ วิชาชีพเวชกรรมในไทย 47,000 คน ทุกคนมีสิทธิ์มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ที่ผ่านมาแพทยสภามีมติเป็นกลางทางการเมืองและยังไม่มีมติใดๆ ในเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากนายกฯ ดังนั้น การที่นายกแพทยสภาออกมาแสดงจุดยืนการเมืองถือเป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่จากมติกรรมการแพทยสภาที่เป็นตัวแทนของแพทย์ทั้งประเทศ โดยวันที่ 13 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมบอร์ดในประเด็นดังกล่าว
- 14 views