ไทยรัฐ - นักวิชาการด้านโรคอ้วน ชี้ ขึ้นภาษีเครื่องดื่มให้ความหวาน-จังก์ฟู้ด เป็นแนวทางช่วยลดโรคอ้วนได้ ชู "เม็กซิโก" ตัวอย่างหลังทำภาษีสำเร็จ หวังแก้ปัญหาอ้วนล้นเมือง ขณะที่ไทยภาษีสวนทางโลก น้ำตาลสูง ราคาต่ำ ชงแก้กฎหมายคิดภาษีตามปริมาณน้ำตาล...ในการประชุมเรื่อง "การขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวาน" ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ศ.ดร.แบร์รี ป๊อปกิน (Prof. Barry Popkin) อาจารย์ภาควิชาโภชนาการศาสตร์ สาขาโภชนาการระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา และผู้อำนวยการ ณ ศูนย์สหวิทยาการโรคอ้วนแชปเพิลฮิลล์ กล่าวในที่ประชุมว่า สถานการณ์ของโรคอ้วนปัจจุบันพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาการขาดสารอาหาร เป็นการมีโภชนาการเกินในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ ประชาชนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 8-10 กิโลกรัม ในช่วง 10-18 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการมีกิจกรรมทางกายน้อย แต่บริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงเพิ่มมากขึ้น
"มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษีและราคา เป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วน และสร้างรายได้ในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น สหรัฐอเมริกา การเพิ่มราคาน้ำอัดลมขึ้น 10% ทำให้มีการดื่มน้ำอัดลมลดลง 8.1% ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำอย่างเม็กซิโก ก็มีการเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่มีรสหวาน 10% และจัดเก็บภาษีอาหารขยะ 8% โดยนำเงินภาษีที่ได้รับเพิ่มขึ้น อุดหนุนอาหารสำหรับในโรงเรียน" ศ.ดร.แบร์รี กล่าว
ศ.ดร.แบร์รี กล่าวว่า จากหลักฐานทางวิชาการพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า การซื้ออาหารขยะ และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ที่มีผลกระทบต่อดัชนีมวลกาย และยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยพบว่า ประเทศที่มีการใช้ภาษีควบคุมอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อป้องกันโรคอ้วน มีการดำเนินการไปมากแล้วในประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจสูง เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส อเมริกา และในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือรายได้ต่ำ เช่น เม็กซิโก เอกวาดอร์ สิงคโปร์ และหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก ก็มีความสนใจในมาตรการนี้เพิ่มขึ้น โดยพบว่า ประเทศเม็กซิโกที่เพิ่งออกกฎหมายในช่วงต้นปีนี้ เพราะพบว่าประชากรมีอัตราการดื่มน้ำอัดลมต่อหัวสูงมาก ในขณะที่ประชากรอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มที่ยากจน จึงเป็นที่มาของการขึ้นภาษีอาหารจังก์ฟู้ด และเครื่องดื่มให้ความหวาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาจะทำให้โอกาสการเกิดโรคอ้วนลดลง และไม่ได้กระทบเรื่องการว่างงานแบบที่ภาคธุรกิจกล่าวอ้าง ซึ่งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษีและราคา เป็นมาตรการที่น่าสนใจที่สุด และสามารถทำได้จริง ในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพ
ด้าน ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี นักวิชาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า น้ำตาลในน้ำอัดลม เป็นแหล่งพลังงานส่วนเกิน ที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วนของคนไทย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับโรคหลายชนิด เช่น โรคฟันผุ กระดูกกร่อน โดยในน้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบประมาณ 10-14 ช้อนชา น้ำอัดลมทุกกระป๋องจึงเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ร้อยละ 1-2 ประกอบกับเด็กในปัจจุบันมักไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ติดเกม โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งกินขนม นมหวาน นมเปรี้ยว และน้ำอัดลมมากเกินกว่าที่ควร ซึ่งทำให้มีไขมันสะสม และเป็นโรคอ้วนได้ง่ายในขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลชี้ให้เห็นว่า ในปี 2540 คนไทยมีปริมาณเฉลี่ยการบริโภคน้ำตาล 19.3 ช้อนชาต่อวัน มีแนวโน้มปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเฉลี่ยเพิ่มเป็น 23.1 ช้อนชาต่อวันในปี 2553 อีกทั้งสัดส่วนของการบริโภคน้ำตาลทางอ้อมมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากร้อยละ 28.9 ในปี 2540 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45.6 ในปี 2553
"ปัจจุบันประเทศไทยคิดภาษีเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำผลไม้ โดยเก็บจากราคาประเมินหรือปริมาณ หากคำนวณแล้วแนวทางใดสูงกว่า จะใช้แนวทางนั้น และยังมีบางประเภทได้รับการยกเว้นภาษี โดยเฉพาะชาเขียว ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง แต่ความจริงแล้ว ผลกระทบจากเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลสูงนั้น มีผลต่อสุขภาพมาก จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณา โดยการแก้ไขระเบียบกรมสรรพสามิต เพื่อปรับปรุงวิธีการคิดภาษีตามปริมาณน้ำตาล ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า น้ำอัดลมในประเทศไทยนั้น มีปริมาณแคลอรี่ น้ำตาล โซเดียมในระดับสูง แต่กลับมีราคาต่ำ เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ พบว่ามีราคาสูงกว่ามาก ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลต่ำ และไม่มีการเติมโซเดียม ซึ่งมาตรการทางราคาจะมีผลให้ผู้ประกอบการปรับตัว และผลดีที่ได้ คือ ประชาชนจะมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยลง ซึ่งจะมีการนำข้อเสนอพร้อมหลักฐานทางวิชาการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาต่อไป" ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 8 views