เดลินิวส์ - "ที่ผ่านมาข้าราชการพนักงานท้องถิ่นเปรียบเหมือนพลเมืองชั้นสองขณะที่ข้าราชการประจำสามารถเบิกตรงค่ารักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลางได้ งบของท้องถิ่นถูกจำกัดโดยเฉพาะ อบต.เล็ก ๆ ที่อยู่บนเขา และพวกสอบบรรจุเป็นลูกจ้างรวมทั้งข้าราชการซีเล็ก ๆ ซี 1 ซี 2 ซี 3 ก็ไม่ค่อยมีเงินที่จะสำรองจ่ายไปก่อนเมื่อเจ็บป่วย เช่น คลอดลูกเราก็ต้องสำรองจ่ายไปก่อน บางทีก็มายืมเงินปลัดบ้าง หรือเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เพราะไม่เงิน"
"กระทรวงมหาดไทยโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ส่งเงินอุดหนุนลงไปท้องถิ่นแต่ละแห่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานโดยลืมสวัสดิภาพของข้าราชการเล็ก ๆ บังเอิญนายก อบต.ป่วยเป็นโรคไตวาย จำเป็นต้องใช้เงิน เงินไม่เหลือสำรองจ่ายเงินคงคลังน้อยลง จึงต้องไปกู้เงินธนาคารกรุงไทยออกมาจนกระทั่งเป็นหนี้เป็นสินจนนายกตายลงไป ฟอกไตครั้งละ 50,000 บาทเหล่านี้เป็นตัวอย่างยัง อบต. ปลัด อบต.ทั้งหลายที่ป่วยเป็นมะเร็งทั้งหลาย"
สรณะ เทพเนาว์ ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในฐานะนายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทยบอกเล่าถึงปัญหาจริงของการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการพนักงานท้อง ถิ่นและครอบครัว จนนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานท้องถิ่นและครอบครัว โดยผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงไม่ต้องสำรองจ่ายซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศราว 500,000 คน สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมาให้หน่วยงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารกองทุน
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากเปิดตัวโครงการไป สรุปตัวเลขผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด 687,626 คนจาก อปท. (อบต./เทศบาล/อบจ.) 7,851 แห่ง ในจำนวนนี้มีการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง 297,390 คน คิดเป็นร้อยละ 43.25 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด สปสช.ได้รับเงินโอนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น งวดแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา มีการใช้บริการไปแล้ว 272,763 ครั้งเป็นเงิน 552.1 ล้านบาท
'สปสช.ในฐานะผู้ทำหน้าที่บริหารกองทุน ขอชี้แจงว่าในการใช้บริการนั้น สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงแล้ว ไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีใช้สูติบัตร สำหรับท่านใดที่ยังไม่ลงทะเบียน หากไปใช้บริการต้องสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับต้นสังกัด แล้วจะได้รับเงินคืนหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ผู้มีสิทธิทุกท่านไปลงทะเบียนโดยเร็วที่สุดจะสามารถใช้บริการได้สะดวกกว่า"
ทั้งนี้การเปิดดำเนินโครงการกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานท้องถิ่นสปสช.ยอมรับว่ายังมีข้อติดขัดในเรื่องของการเรียงสิทธิเพราะมีบางคนมีหลายสิทธิ เพราะมีข้าราชการเข้า ๆ ออก ๆ ย้ายสังกัดตลอด บางคนมีสิทธิซ้ำซ้อนทำให้สถานพยาบาลพบปัญหายุ่งยาก อาทินายก อบต.ที่เป็นข้าราชการบำนาญ ระบบจะให้เลือกว่าจะใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสังกัดเดิมหรือจะใช้สิทธิของข้าราชการท้องถิ่นเมื่อหมดวาระการบริหารงานก็สามารถกลับไปใช้สิทธิข้าราชการบำนาญเดิมได้ หรือกรณีลูกปลัด อบจ.เปลี่ยนจากบัตรทองไปใช้บัตรประกันสังคมแล้ว ตรงนี้เกิดจากปัญหาที่แต่ละหน่วยงานทั้ง อปท.เองไม่ได้ทำระบบจัดเก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่แรกจึงเกิดปัญหา แต่ทั้งนี้ถ้าไม่เลือกระบบจะเลือกให้โดยคำนึงผลประโยชน์ของผู้ประกันสูงสุด
นอกจากนี้ยังเกิดกรณีที่ไปใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ยังไม่ยอมรับผลต้องการ ไปใช้สิทธิ หรือบางคนย้ายสังกัดไม่ทราบละเอียดว่า ต้องแจ้ง
ดังนั้นหลังจากนี้สปสช.จะทำการจัดประชุมเพื่อรับทราบปัญหาและชี้แจงปัญหาเป็นระยะ ส่วนผู้สงสัยเรื่องสิทธิต่าง ๆ วิธีลงทะเบียน การตรวจสอบสิทธิ สิทธิประโยชน์ และการสำรองจ่ายเงินไปก่อน และมีกรณีให้ช่วยประสานหาเตียงให้ สอบถามได้ที่บริการสายด่วน สปสช.โทร 1330
อย่างไรก็ตามผู้มีสิทธิตาม กองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานท้องถิ่นจะได้สิทธิใหม่ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการหรือทายาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการหรือทายาทได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ซึ่งสิทธิ ขรก.ท้องถิ่นแบบเดิมนั้นไม่มี
สมดี คชายั่งยืน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในระยะแรกมีกรมปกครองท้องถิ่นได้รับจัดสรรจากรัฐบาล 7,000 ล้านบาทเป็นการเบิกสวัสดิการให้กับพนักงานท้องถิ่นโดยระยะแรกจะจัดสรรให้ สปสช.4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 งวด งวดละ 2,000 ล้านบาท งวดแรกจ่ายไปแล้วเมื่อเดือนธ.ค. 2556 และงวดต่อไปจะจ่ายภายในเดือนก.พ. นี้อีก 2,000 ล้านบาท หากไม่พอจะนำเงินที่ตั้งไว้สำรอง 3,000 ล้านบาทมาใช้จ่าย แต่คิดว่ายอดนี้น่าจะเพียงพอเพราะดูจากสถิติตัวเลขที่องค์กรปกครองท้องถิ่นเคยเบิกในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเป็นความสะดวกเหมือนกับข้าราชการไปที่รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย สามารถไปสแกนนิ้วโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงิน รพ.ก็จะมาเบิกจ่ายเงินจาก สปสช.ต่อไป
ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของการจัดระบบการรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มข้าราชการสังกัดกรมการปกครองท้องถิ่น นอกจากจะช่วย ให้ได้รับความสะดวกและทั่วถึงด้านการรักษาพยาบาลแล้วยังทำให้เห็นว่าการใช้เงินงบประมาณของประเทศด้านการรักษาพยาบาลเป็นไปตามเหตุและผลภายใต้การดูแลเรื่องการใช้จ่ายเงินตามหลักการทางแพทย์ อย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557
- 21 views