ไทยโพสต์ - นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมาได้รับตัวอย่างส่งตรวจจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จำนวน3ตัวอย่าง จำแนกเป็นของเหลใสในขวดแก้วสีชา จำนวน 1 ตัวอย่างและตัวอย่างเครื่องต้มน้ำหมักในภาชนะบรรจุปิดสนิท จำนวน2ตัวอย่าง ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำหมักพืชแท้เต็มพลัง ตราผู้ใหญ่สุพรรณ และเครื่องดื่มน้ำสมุนไพรหมักเต็มพลัง ตราโสมตังเซียม ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อโคลิฟอร์ม(Coliforms) และ อี.โคไล(E coli) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ ในปริมาณที่เกินมาตรฐานกำหนด รวมทั้งมีส่วนผสมของยาและสารเคมีอันตรายในเครื่องน้ำหมักทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ สารไดคลอโรมีเทน (Dichloromethane) สารไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) โดยพบสารไดคลอโรมีเทนในเครื่องดื่มน้ำหมักพืชแท้เต็มพลังตราผู้ใหญ่สุพรรณ 4,695 มิลลิกรัม/ลิตร ในน้ำสมุนไพรหมักเต็มพลัง ตราโสมตังเซียม พบไดคอลโรมีเทน 5,174 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนในของเหลวในในขวดแก้งสีชา ตรวจพบสารไดคลอโรมีเทน ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยามีปริมาณไดคลอโรมีเทนเจือปนได้ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือคิดเป็น 600 มิลลิกรัม/ลิตร นอกจากนี้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกากำหนดให้มีปริมาณไดคลอโรมีเทนปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/ลิตร อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นราราชสีมา ได้รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคไม่ควรซื้อน้ำหมักดังกล่าวมาบริโภค
อธิบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า หากผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรน้ำหมักที่มีสารไดคลอโรมีเทน จะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาจทำให้เกิดแผลและมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้มีเอ็นไซม์ตับสูงขึ้น และอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ นอกจากนี้เชื้อโคลิฟอร์ม และอี.โคไล ที่ตรวจพบในน้ำหมักจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องร่วงเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการปวดท้องถ่ายเหลว แม้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรจะได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ถ้าผู้ผลิตยังเติมสารอันตรายลงในผลิตภัณฑ์ และมีสุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
นางธิดารัตน์ บุญรอด ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ไดคลอโรมีเทน จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสารที่มีสภาพเป็นของเหลวใสไม่มีสี ระเหยได้ง่าย ไม่ติดไฟและไม่ระเบิด ใช้เป็นตัวละลายไขมันและเป็นตัวทำละลายแว็กซ์และเรซิน จึงมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสี พลาสติก และฟิล์มถ่ายภาพหากกลืนจะทำให้เกินอาการคลื่นไส้ อาเจียนเกิดแผลและและมีเลือดออกในทางเดินอาหาร หากหายใจเอาสารดังกล่าวเข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ไอ หายใจลำบาก เจ็บแน่นทรวงอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจหยุดเต้นได้นอกจากนี้ มีรายงานว่า สารไดคลอโรทีเทน เป็นสารที่ก่อให้เกิดเนื้องอกในระบบทางเดินหายใจตับ และเต้านมในสัตว์ทดลอง รวมถึงอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ด้วย สำหรับการปฐมพยาบาลถ้ากลืนกินสารเข้าไปอย่ากระตุ้นให้อาเจียน ควรนำส่งแพทย์ทันที ถ้าหายใจเข้าไปให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้ช่วยผายปอด และนำส่งแพทย์ ถ้าสัมผัสถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยสบู่ ถ้าถูกลูกตาให้ล้างทันทีด้วยน้ำอย่างน้อย 15 นาที
สำหรับไซโปรเฮปตาดีน เป็นยาในกลุ่มแอนติฮีสตามีน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ใช้รักษาอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน น้ำมูกไหล ลมพิษทั้งยังมีฤทธ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ป้องกันอาการปวดศรีษะจากไมเกรน และยานี้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม ปากแห้ง หรือมองภาพไม่ชัดเจนช่วยกระตุ้นให้ทานอาหารได้ การรับประทานยาไซโปรเฮปตาดีนจึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
ตัวอย่างส่งตรวจจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 3 ตัวอย่าง
1.สารละลายใสในขวดแก้วสีชา จำนวน 1 ตัวอย่าง
2.เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทจำนวน 2 ตัวอย่าง คือเครื่องดื่มน้ำหมักพืชแท้เต็มพลังตราผู้ใหญ่สุพรรณ และ น้ำสมุนไพรหมักเต็มพลังตราโสมตังเซียม--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 6 กุึมภาพันธ์ 2557
- อภิชัย มงคล
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา
- น้ำหมัก
- เครื่องดื่มน้ำหมักพืชแท้เต็มพลัง ตราผู้ใหญ่สุพรรณ
- เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรหมักเต็มพลัง ตราโสมตังเซียม
- โคลิฟอร์ม
- Coliforms
- อี.โคไล
- E coli
- โรคอาหารเป็นพิษ
- สารไดคลอโรมีเทน
- Dichloromethane
- สารไซโปรเฮปตาดีน
- Cyproheptadine
- 157 views