ฐานเศรษฐกิจ - กระทรวงสาธารณสุข ให้สถานพยาบาลทุกระดับในพื้นที่ภาคเหนือ เตรียมยาเวชภัณฑ์ประจำห้องฉุกเฉิน พร้อมดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันอย่างทันท่วงที ย้ำเตือน 7 กลุ่มเสี่ยง
ให้ระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจป่วยง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ และให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังการเจ็บป่วยผลกระทบจากหมอกควันใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่มกราคม–เมษายน 2557 รวมทั้งสำรองหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันการสูดหมอกควันเข้าปอด สำหรับภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์การเจ็บป่วยขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติจากหมอกควัน
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการรองรับผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันไฟในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา ตั้งแต่เดือนมกราคม–เมษายน 2557 โดยขณะนี้ได้สำรองหน้ากากอนามัย สำหรับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน
2.สั่งการโรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จัดเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้เจ็บป่วยทั้งเครื่องมือแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ เวชภัณฑ์ ยาประจำห้องฉุกเฉิน เพื่อให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงที และ 3.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวจากภาวะหมอกควัน รวมทั้งขอความร่วมมือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชน รณรงค์งดเผาป่า เผาหญ้า วัชพืช หรือขยะในหมู่บ้าน เพื่อลดมลพิษในอากาศ
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อันตรายของฝุ่นละอองหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่า เผาขยะ เผาวัชพืช โดยทั่วไปจะมีผลกระทบต่อสุขภาพใน 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคตาอักเสบ และ 4.โรคผิวหนังอักเสบ โดยผลกระทบต่อสุขภาพจะขึ้นกับระยะเวลาการสัมผัส อายุ ความต้านทานแต่ละบุคคล ความเข้มข้นของมลพิษ ประวัติการป่วยเป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจและอื่นๆ อาการป่วยเริ่มตั้งแต่ขั้นเล็กน้อยจนถึงรุนแรง ได้แก่ แสบตา แสบจมูก ตาแดง น้ำตาไหล คอแห้ง ระคายคอ ไอ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วๆไป มี 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเด็ก 2.หญิงตั้งครรภ์ 3.ผู้สูงอายุ 4.ผู้ป่วยโรคหอบหืด 5.ผู้ป่วยโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง 6.ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และ 7.ผู้ป่วยโรคหัวใจ ทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงนี้ จะต้องระมัดระวัง ควรสังเกตอาการตนเอง ผู้ที่ต้องกินยาควบคุมอาการประจำต้องกินให้ต่อเนื่อง จัดเตรียมยาที่จำเป็นไว้ให้พร้อม ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูดละอองหมอกควัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานคือเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันการสูดละอองหมอกควันเข้าปอด เน้นการใช้หน้ากากอนามัยชนิดผ้า หรือใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก ซึ่งชุมชนสามารถจัดหาหรือผลิตใช้เอง สามารถซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้
ควรลดกิจกรรมการใช้แรงมาก ๆ เช่น ออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง เวลาเช้า และมีปริมาณหมอกควันในอากาศจำนวนมาก เพราะการออกกำลังกายจะเพิ่มการหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย 10-20เท่า รวมทั้งงดสูบบุหรี่ และควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆในช่วงที่มีฝุ่นละออง ซึ่งน้ำจะช่วยให้ร่างกายขับฝุ่นละอองออกจากระบบทางเดินหายใจง่ายขึ้น ฝุ่นไม่สะสมในปอด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แสบตา ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
นอกจากนี้สิ่งที่ประชาชนควรปฏิบัติได้แก่ 1. ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาเช้า เนื่องจากหมอกควันจะลอยต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสหมอกควัน 2. ประชาชนควรทำความสะอาดบ้าน ของใช้ภายในบ้าน โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาด เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่สะสม หลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาดทำความสะอาด เพราะจะทำให้ฝุ่นกระจายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รายงานเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพในโรงพยาบาล 42 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัดได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา ระหว่างวันที่ 5 – 25 มกราคม 2557 ยังไม่พบความผิดปกติจากปัญหาหมอกควัน โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามปกติจำนวน 49,767 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 22,334 ราย
รองลงมาคือโรคระบบทางเดินหายใจ จำนวน 16,923 ราย โดยที่ผ่านมามีเพียงจุดตรวจวัดศาลหลักเมืองจังหวัดลำปาง อ.เมืองลำปางเท่านั้นที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเล็กน้อยในวันที่ 28 มกราคม 2557 วัดได้ 127 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนยังสามารถประกอบกิจกรรมได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร.02 591 8172 โทรสาร : 02 590 4388 อีเมล : media.envocc@gmail.com หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าว
ที่มา: http://www.thanonline.com
- 9 views