คมชัดลึก - ในปี 2554 จ.พะเยา มีสถิติการติดเชื้อไข้เลือดออกสูงสุดในประเทศไทย มหาวิทยาลัยพะเยาตระหนักถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาชุมชน โดยช่วงที่มีการระบาดหนัก พะเยาและจังหวัดอื่นๆ ได้ส่งเสริมการใช้น้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง ซึ่งพบว่าปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี อีกทั้งได้พยายามหาสมุนไพรเพื่อใช้ทดแทนทรายอะเบทที่ใช้ผสมลงในน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกอีกทางหนึ่ง
รศ.ดร.บุษบง จำเริญดารารัศมี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) เปิดเผยว่า มพ.โดยคณะเภสัชศาสตร์ ได้ให้ความสนใจงานวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรทดแทนสารเคมี นำโดย ดร.มาลีรักษ์ อัตต์สินทอง ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าพบว่าน้ำมันที่สกัดได้จากมะแขว่น สามารถใช้ทำลายลูกน้ำยุงลายได้ จึงมีแนวคิดนำน้ำมันนี้มาใช้แทนทรายอะเบท อีกทั้ง อ.ปิยนุช ผิวชัย ยังได้ศึกษาการสกัดน้ำมันจากตะไคร้หอมนำมาใช้ไล่ยุง และมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงในรูปแบบต่างๆ
เนื่องจาก มะแขว่น และตะไคร้หอมเป็นพืชสมุนไพรที่พบมากใน จ.พะเยา มพ.จึงมีแนวคิดจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรในชุมชนขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การสกัดน้ำมันหอมระเหย และยังเป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรทดแทนสารเคมี โดยศูนย์แห่งแรกจัดตั้งขึ้นที่ "ไร่ชาวดิน" อ.เมือง จ.พะเยา ตั้งเป้าจะขยายศูนย์ให้ได้ 3 แห่งใน 5 ปี และแต่ละศูนย์จะต้องสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
"ศูนย์แห่งแรกดำเนินการมากว่า 1 ปีแล้ว เบื้องต้นมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ชุมชนสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร 4 ชนิด คือ ตะไคร้ มะแขว่น สะระแน่ และไพล เพราะทั้ง 4 ชนิดนี้มีความต้องการในตลาดสูง โดยนำไปประกอบในผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์ได้หลากชนิด" รศ.ดร.บุษบง กล่าว
พร้อมระบุว่า ในเชิงเศรษฐกิจหากเปรียบเทียบจากต้นทุนแล้วพบว่าการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรดังกล่าว จะมีกำไรโดยเฉลี่ย 3 เท่า แต่เนื่องจากเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหย ณ ศูนย์เรียนรู้ฯ ยังเป็นขนาดที่ใช้สำหรับงานวิจัยจึงให้ผลผลิตต่อวันในปริมาณไม่มากนัก โดยสกัดได้เพียง 30 กก. ต่อหนึ่งรอบ รอบละ 4 ชั่วโมง ได้น้ำมันหอมระเหยรอบละ 200-500 ซีซี ดังนั้น ผลผลิตที่ได้จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะที่เกษตรกรในชุมชนได้ให้ความสนใจที่จะผลิตเพื่อการพาณิชย์ มพ.จึงจะให้การสนับสนุนในวิชาการทุกด้าน อีกทั้งเมื่อศูนย์แห่งแรกเข้มแข็งก็จะขยายองค์ความรู้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ใน จ.พะเยา ต่อไป
ด้าน นายดุสิต อภิจิต เจ้าของไร่ชาวดิน อ.เมือง จ.พะเยา หนึ่งในเกษตรกรที่สนใจในการสกัดน้ำมันจากพืชสมุนไพร และเป็นผู้เข้าร่วมโครงการจัดตั้งศูนย์ กล่าวว่า น้ำมันจากพืชสมุนไพรยังมีความต้องการในตลาดสูง เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคห่วงใยสุขภาพของตนเองโดยหันมานิยมใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมีมากขึ้น และการสกัดน้ำมันจากพืชสมุนไพรยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าการเกษตรอีกทางหนึ่ง
"ตลาดนี้ยังไปได้อีกไกล จึงมองหาเครื่องสกัดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สกัดน้ำมันจากพืชสมุนไพรได้ในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของตลาด ส่วนสมุนไพรที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้นก็รับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ คาดจะขยายกำลังการผลิตเพื่อการพาณิชย์ได้ในเร็วๆ นี้"
เจ้าของไร่ชาวดิน กล่าวว่า น้ำมันจากตะไคร้หอม ผลมะแขว่น มิ้นต์ และไพล เหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ทั้งยังขายเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ให้แก่แหล่งรับซื้อได้ สร้างรายได้พื้นฐานแก่เกษตรกรและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชสมุนไพรอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งฝึกงานของนิสิตและชุมชนที่สนใจ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ ที่โทร.0-5446-6666 ต่อ 3187
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557
- 139 views