บ้านเมือง - น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงที่อากาศหนาวเย็นโรคที่มีความเสี่ยงจะระบาดได้ง่ายคือ โรคอีสุกอีใส (CHICKEN POX) โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นชื้น พบได้ในคนทุกอายุที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค มีโอกาสเกิดความรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวย้อนหลัง 10 ปี ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) พบต่อปีมีผู้ป่วยโรคนี้ 50,000-90,000 ราย และมีแนวโน้มจะพบมากขึ้น พบมากตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. โรคนี้มักพบระบาดในที่อยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน โรงงาน ศูนย์เด็กเล็ก เรือนจำ เป็นต้น สธ.ได้กำหนดให้โรคอีสุกอีใสเป็น 1 ใน 31 โรคที่ต้องรายงานเมื่อพบผู้ป่วย เพื่อแยกผู้ป่วยไม่ให้ไปสัมผัสกับผู้อื่น และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
น.พ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในปี 2556 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสจำนวน 48,299 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี คิดเป็นร้อยละ 25 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี ร้อยละ 23 ส่วนปี 2557 ตั้งแต่ 1-19 ม.ค. พบผู้ป่วยแล้ว 2,565 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรค หากมีอาการป่วยขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตราย และควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดยังคนอื่นๆ อีก
ด้าน น.พ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัส วาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด (Herpes Zoster) เชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย อาการของเด็กที่ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ส่วนในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่มีไข้ ต่อมา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน มีอาการคัน และตกสะเก็ด ลักษณะเด่นที่สังเกตได้ง่ายว่าเป็นโรคอีสุกอีใส คือ ผื่นจะขึ้นที่ไรผมก่อน ต่อมาผื่นจะกระจายไปทั่วตัว บางรายอาจมีตุ่มในปากทำให้ปากลิ้นเปื่อย อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ตุ่ม ทำให้ตุ่มกลายเป็นหนอง และทำให้มีรอยแผลเป็น เป็นจุดดำๆ ที่ผิวหนัง
"โรคนี้เป็นโรคที่หายเองได้ ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ โดยตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น เมื่อป่วยจะต้องหยุดเรียน หยุดงาน พักผ่อนที่บ้าน และดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารได้ตามปกติ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาดเพื่อป้องกันติดเชื้อแบคทีเรีย ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่ม ถ้ามีไข้สูงให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้ วิธีการป้องกันคือ ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ที่เคยเป็นแล้วจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติไปตลอดชีวิตไม่ต้องฉีดวัคซีน แต่ยังมีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลังประมาณร้อยละ 15 หากร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น พักผ่อนน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย เนื่องจากจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาทของร่างกาย" อธิบดี คร. กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557
- 223 views