เครือข่ายแพทย์อาสาฯ เดินหน้าหนุน กปปส.ต่อ ชี้ผลเลือกตั้งไม่สะท้อนเจตจำนงประชาชน เหตุเป็นแค่เครื่องมือสร้างความชอบธรรมรัฐบาลบริหารต่อ พร้อมแนะต้องปฏิรูปก่อน เชื่อหากคงเดินหน้าเลือกตั้งไม่มีทางสำเร็จ ขณะที่ กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย” ระบุ ผลเลือกตั้ง สะท้อนประชาชนยังต้องการเลือกตั้ง รัฐบาลต้องเดินหน้าต่อ แถมกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านควรฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา หนึ่งในเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์เพื่อปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องสำคัญในการยุติความขัดแย้ง แต่ครั้งนี้ถูกนำมาใช้ในจังหวะที่ไม่ควรเป็น เพราะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำให้เสียโอกาสเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในพื้นที่ไม่สามารถเลือกตั้งได้นั้น แม้ว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปกี่ครั้ง ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะภาคใต้ที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง หากยิ่งเดินหน้าต่อไปจะทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น เพราะเป็นการนำอำนาจมาบีบบังคับ ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปการเมืองก่อน
ส่วนที่ 59 จังหวัด โดยเฉพาะทางภาคเหนือและอีสาน สามารถเดินหน้าการเลือกตั้งได้นั้น นพ.สุภัทร กล่าวว่า การนับคะแนนหน่วยเลือกตั้งมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสีย เพราะการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง จะทำให้ทราบผลคะแนนในพื้นที่ทันที ทำให้ทราบว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่มีผู้อิทธิพลในพื้นที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งต้องเข้าใจว่าวิถีชีวิตชุมชนแตกต่างจากวิถีในเมือง ในชุมชนการอุปถัมภ์เกื้อหนุนยังมีอยู่สูงมาก ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการช่วยเหลือต่างๆ ที่จะตามมา อย่างการปล่อยเงินกู้ เป็นต้น ดังนั้นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น รวมถึงผลคะแนนที่ออกมานั้น จึงไม่ได้บอกเจตจำนงของการเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่หากนำมารวมนับคะแนนที่อำเภอจะบอกไม่ได้ว่าหีบเลือกตั้งเป็นของพื้นทีใด ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็นอิสระ ซึ่งจากประสบการณ์ 18 ปี ที่ทำงานกับชุมชนและชาวบ้าน จึงไม่คิดว่าผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะสะท้อนความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริงได้ จึงต้องมีการปฏิรูปก่อน
นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า ทางเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยจะยังคงสนับสนุนการเคลื่อนไหวและชุมนุมของ กปปส. และมวลมหาประชาชนต่อไปอย่างเต็มที่ จนกว่าการต่อสู้จะชนะ ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่คิดว่าเป็นการเพลี่ยงพล้ำ เพราะการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเลือกตั้งถึง 19 ล้านเสียง แต่ครั้งนี้เชื่อว่าอย่างไรก็ไม่ถึง 10 ล้านเสียง ชี้ให้เห็นถึงความนิยมที่มีต่อพรรคเพื่อไทยลดลงอย่างมาก ส่วนที่มีการมองว่าการต่อสู้ของทาง กปปส.เริ่มแผ่วลงนั้น เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามจังหวะ แต่คงจะมีการจัดชุมนุมใหญ่ และหลังจากนี้การชุมนุมคงไม่ได้จำกัดแต่ในพื้นที่ กทม.เท่านั้น แต่จะกระจายไปยังพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น
ต่อข้อซักถามว่า การบุกปิดสำนักงานเขตหลักสี่ กทม. และที่ทำการไปรษณีย์ในจังหวัดภาคใต้ของทาง กปปส. ภาพที่ออกมาถูกมองติดลบและรุนแรงนั้น นพ.สุภัทร กล่าวว่า เป็นการมองที่ต่างจิตต่างใจ แต่นี่เป็นเพียงการแสดงอารยะขัดขืน มีเพียงที่สำนักงานเขตหลักสี่เท่านั้นที่เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นปะทะกัน ซึ่งต้องบอกว่าการออกมารวมพลังของมวลมหาประชาชนครั้งนี้เป็นอิสระ ไม่มีใครสั่งใครได้ รวมถึงในพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่เอง เป็นดุลยพินิจของคนในพื้นที่เอง เมื่อเห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น จึงมีวิธีการจัดการของเขา
“สิ่งที่อยากบอกรัฐบาล คือหากยังคงเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จได้ และมองว่าเป็นวิธีเพื่อชนะคะคานกันเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลเองจึงควรที่จะทบทวน ควรเปลี่ยนกุนซือที่ปรึกษาใหม่ เปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และเปลี่ยนท่าทีที่นำมาสู่การเจรจาพูดคุยกันมากว่า รวมถึงการจัดตั้ง ครม. ก็ไม่ควรมี รมต.หน้าเดิมเข้ามานั่น แต่ต้องเป็ รมต.ที่ประชาชนยอมรับ นอกจากนี้ควรออกนโยบายดีที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะเป็นวิธีการสลายมวลมหาประชาชนได้ดีกว่า ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่” หนึ่งในเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์เพื่อปฏิรูปประเทศไทย กล่าวและระบุว่า ยืนยันว่าทางเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยจะยังคงเดินหน้าร่วมกับมวลมหาประชาชนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ได้ร่วมจัดทีมแพทย์เพื่อดูแลผู้ชุมนุมและผู้บาดเจ็บไม่ว่าฝ่ายใด และจะยังคงร่วมเคลื่อนไหวต่อไป
ด้าน นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในฐานะแกนนำกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย ได้แสดงความเห็นถึงผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า ผลการเลือกตั้งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นที่ได้มีการขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ทั้งจำนวนเขตการเลือกตั้งที่สามารถดำเนินไปได้ ถึง 59 จังหวัด รวมไปถึงจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการการเลือกตั้ง
ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้นั้น นพ.ภีศเดช กล่าวว่า ทั้งรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดการเลือกตั้งในเขตที่ไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งได้ภายใน 180 วันตามที่กฎหมายกำหนด หรือต้องให้แล้วเสร็จเร็วกว่านั้น หรือหากเป็นไปได้ไม่ควรเกิน 30 วัน โดยในพื้นที่ซึ่งไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ควรมีการเจรจา หรือไม่ก็ย้ายสถานที่เลือกตั้งไปยังพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมกันนี้ต้องเดินหน้ารณรงค์เพื่อให้การเลือกตั้งสำเร็จไปด้วยดี ทั้งนี้เพื่อให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้
“ผลการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้าน อยากให้ลองฟังความเห็นคนส่วนใหญ่ ที่แสดงความเห็นผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงควรใส่ใจกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย และไม่ควรขัดขวางการใช้สิทธิ์ของผู้อื่น” แกนนำกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย กล่าว และว่า จากนี้ทางกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตยคงรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งในเขตที่เหลือต่อไป
- 3 views