มติชน - สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ประสบความสำเร็จ ใช้รังสีรักษาโรครูมาตอยด์หายขาดเกือบ 100% ชี้ได้ผลดีตั้งแต่ระยะเริ่มต้นถึงระยะเรื้อรัง
วันที่ 30 มกราคม น.ส.นิภาวรรณ ปรมาธิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า รูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกิดจากร่างกายจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเยื่อบุข้อ ทำให้เยื่อบุข้ออักเสบหนาตัวขึ้น และมีการสร้างน้ำไขข้อเพิ่มขึ้น ทำให้ข้อบวม ปวด และขยับข้อไม่ได้ หากการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในข้อมีความรุนแรงเพียงพอที่จะทำลายโครงสร้างของข้อ ซึ่งได้แก่กระดูกอ่อนผิวข้อ และหัวกระดูกที่อยู่ในบริเวณข้อ ก็จะทำให้ข้อคดงอและผิดรูปไป เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และส่วนใหญ่จะรักษาไม่หาย รวมถึงหากได้รับการรักษาช้า อาจจะทำให้ข้อถูกทำลายได้
"แต่วันนี้เรามีเรื่องที่น่ายินดี คือเราประสบความสำเร็จในการวิจัยและผลิตเภสัชรังสี สำหรับรักษาโรคดังกล่าวได้ถึง 2 ตัว ได้แก่ ซาแมเรียม-153 เอชเอ (153Sm-HA) และอิตเทรียม-90 ซิเตรท คอลลอยด์ (90Y-citrate colloid) ซึ่งจัดเป็นยาฉีดเพื่อใช้สำหรับการนำมารักษาโรครูมาตอยด์ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและระยะเรื้อรังได้ตามลำดับ ซึ่งยาทั้งสองชนิดเป็นผลจากความร่วมมือในการวิจัยของนักวิจัยด้านเภสัชรังสีและศูนย์ไอโซโทปรังสีของ สทน." น.ส.นิภาวรรณกล่าว
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์กล่าวว่า ปกติการรักษาโรครูมาตอยด์ทำได้ 3 วิธี วิธีแรกคือรักษาโดยการผ่าตัด แต่มีข้อเสีย อาจทำให้กระดูกผุกร่อน และโรคสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้ง และรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้ เนื่องจากถ้าใช้ยาที่มีขนาดเกินขีดกำหนด จะมีผลเสียต่อระบบภายในร่างกาย วิธีสุดท้ายคือ การรักษาด้วยเภสัชรังสี โดยรังสีสามารถเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่เกิดการอักเสบ และสามารถใช้ในการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและระยะเรื้อรังได้
นางอังคนันท์ อังกุรรัตน์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์คุณภาพ ศูนย์ไอโซโทปรังสี กล่าวว่า ข้อดีสำหรับการใช้เภสัชรังสีรักษาโรครูมาตอยด์ คือ ตัวยาจะเข้าสู่ข้อต่างๆ และกระจายตัวของยาไปยังบริเวณเยื่อหุ้มไขข้ออักเสบได้ทั่วถึง ทำให้มีประสิทธิภาพของการรักษาได้ดี เนื่องจากอิตเทรียม-90 ซิเตรท คอลลอยด์ มีลักษณะเป็นคอลลอยด์ อย่างไรก็ตาม อิตเทรียม-90 มีข้อเสียคือให้เฉพาะอนุภาคบีตา เพราะฉะนั้นในการติดตามและวัดปริมาณของรังสีจะทำได้ยากกว่าซาแมเรียม-153 ซึ่งให้รังสีแกมมาและบีตาพร้อมกัน ดังนั้น การวัดปริมาณรังสีอิตเทรียม-90 สามารถแก้ไขโดยอาศัยการวัดเนื่องมาจากการเกิดรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า ทดแทนได้ มีผลทำให้การรักษาโรครูมาตอยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 31 มกราคม 2557
- 310 views