คมชัดลึก - กล่าวได้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตลอดปี 2556 ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นยุคของการเริ่มต้นปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในหลายนโยบาย และแน่นอนว่า ในปี 2557 ยังจะต้องมีการเดินหน้านโยบายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป สธ.อย่างแท้จริง
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.การปฏิรูป สธ.ให้เป็นกลไกด้านสุขภาพของชาติ หรือ National Health Centre โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้การยอมรับแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง รวมถึงจะมีศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพเป็นแห่งเดียวของประเทศ หรือ National Health Information Centre เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการใช้บริการสุขภาพของประชาชนทุกสิทธิ ทั้งประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการข้าราชการ 2.ปฏิรูปกลไกภายใน สธ. ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) และ 8 กรม ยังขยับได้เพียงการปรับบทบาทหน้าที่ใหม่, การจัดโครงสร้างการทำงาน ยังไม่ผ่านการยอมรับของ ก.พ.ร.
และ 3.คือการปฏิรูปการทำงานในส่วนของภูมิภาค โดยใช้รูปแบบของเครือข่ายบริการแบบไร้รอยต่อ เรียกว่า พวงบริการ แบ่งเป็น 12 พวงบริการสุขภาพ ผ่านความเห็นชอบจาก ก.พ.ร.แล้ว แต่ยังไม่สามารถตราเป็นกฎกระทรวงได้ ปัจจุบันดำเนินการโดยใช้คำสั่งการภายในของปลัด สธ. จะเป็นการทำงานประสานความร่วมมือและใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานพยาบาลภายในเขตบริการเดียวกัน อย่างเช่น แพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดสามารถไปใช้ห้องผ่าตัดเพื่อทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ภายในเครือข่าย ทำให้คนไข้ไม่ต้องรอคิวนาน การส่งต่อจาก รพช.มายังโรงพยาบาลจังหวัดที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ก็จะลดลง รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกัน ทำให้การใช้งบลดลง เช่น ยาลดลงประมาณร้อยละ 10 ห้องแล็บร้อยละ 20 มีแนวโน้มค่าใช้จ่ายลดลงจากการใช้ระบบนี้ เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
"มีการขับเคลื่อนมาประมาณ 1 ปีเศษ แต่ยังคืบหน้าไปไม่มากนัก การปฏิรูปเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี หากดำเนินการได้ตามแผนดังกล่าวจะทำให้คุณภาพในการให้บริการประชาชนจะดีขึ้น การเข้าถึงบริการของประชาชนง่ายขึ้น สะดวกขึ้น สามารถสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนได้และประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพมีความคุ้มค่าคุ้มทุนมีประสิทธิภาพ ต้นทุนไม่สูงนัก" นพ.วชิระกล่าว
ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) ให้ความเห็นว่า สธ.ในปัจจุบันอยู่ในสภาพป่วยเรื้อรัง แตกแยก แต่กำลังถูกรักษาเยียวยา กำลังถูกผ่าตัดเอาต้นตอปัญหาออกทีละก้อน ภูมิคุ้มกันอ่อนแอมายาวนาน รอการฟื้นตัวในวันข้างหน้า เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวบ้าง จึงอยากเห็น สธ.ฟื้นไข้ หายจากโรค และมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง การจะเดินหน้าปฏิรูป สธ.ต้องดำเนินการ 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.มีการเชื่อมต่อประสานกันระหว่างสป.สธ.และผู้ทำงานส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แต่ในกลุ่มผู้บริหาร ด้วยการฟังเสียงประชาคมสาธารณสุขอย่างจริงจังต่อเนื่อง จะทำให้ข้อมูลจากภูมิภาคกลับเข้ามายังผู้บริหาร สธ.มากขึ้น เพื่อช่วยในการตัดสินใจตรงจุดยิ่งขึ้น
2.ทำระบบเข้าสู่ตำแหน่งให้มีธรรมาภิบาลมากขึ้น เพื่อให้ได้ผู้บริหารในภูมิภาค เช่น ผอ.รพ.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มีคุณภาพและคุณธรรมโดยใช้ประชาคมสาธารณสุขให้เป็นประโยชน์ 3.ทำระบบดูแลตรวจสอบให้เข้มแข็งมากกว่านี้ โดยข้อมูลควรโปร่งใสเปิดเผยและเข้าถึงได้มากขึ้น จะได้ไม่มีใครโกงได้ง่ายดาย 4.สร้างเอกภาพของ สธ.โดยให้ทุกวิชาชีพในทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งสม่ำเสมอ เช่น สร้างประชาคมสาธารณสุขให้เข้มแข็งมีส่วนร่วมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 5.สธ.ควรมีระบบดูแลบุคลากรทุกวิชาชีพให้มีปริมาณและคุณภาพที่ดีพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อคงคนให้อยู่ในระบบแบบมีคุณภาพและความพึงพอใจ ทั้งนี้ไม่ต้องรีบร้อนแต่ต้องมีแผนกำกับชัดเจนและไม่เปลี่ยนตามอารมณ์ผู้มีอำนาจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะอดีตรองประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หัวใจของการปฏิรูปอยู่ที่การสร้างการมีส่วนร่วมใน สธ.อย่างใจกว้าง ที่ผ่านมามีการสร้างการมีส่วนร่วม แต่เป็นในรูปแบบที่มีคำตอบตายตัวแล้วจากผู้บริหาร สธ. เป็นเพียงการมีส่วนร่วมด้วยการประทับตรายาง ไม่ใช่การมีส่วนร่วมที่แท้จริง ซึ่งการดำเนินงานภายใน สธ.จะใช้รูปแบบสั่งการไม่ได้ ต้องให้ทุกฝ่ายยอมรับ จึงจะเดินหน้าร่วมกันได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเดินหน้านโบบายแบบเผด็จการเหมือนที่ผ่านมา เช่น นโยบายการแทรกแซงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.), 12 เขตบริการสุขภาพแทนที่จะเป็นการกระจายอำนาจกลายเป็นการเพิ่มขึ้นตอนการทำงานและไม่ได้กระจายอำนาจจริง และนโยบายการจัดสรรเงินขั้นต่ำที่ใช้ในการบริหารจัดการให้โรงพยาบาล หรือเอ็มโอซี (Minimum Operating Cost : MOC) เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีรัฐบาลใหม่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคน สธ.อย่างจริงจัง ซึ่งนโยบายสำคัญทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวต้องมีการล้างไพ่และเริ่มต้นใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
นายไพศาล บางชวดนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข (สวส.) มองว่า ต้องเริ่มจากการปฏิรูปการบริหารจัดการมากกว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพราะมีปัญหาหมักหมมและทับซ้อน โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดตัวชี้วัดที่ สธ.เน้นตอบสนองตาม ก.พ.ร. ไม่ได้ตอบโจทย์สุขภาพประชาชน ดังนั้น ควรคิดมุมกลับปฏิรูประบบให้เน้นการช่วยให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย จึงต้องเทน้ำหนักไปในเรื่องการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก โดยอาจจะเพิ่มอัตรากำลังคนที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนมากขึ้น เนื่องจากหากมีการบริหารจัดการที่ดีและยึด
ประชาชนเป็นตัวตั้งจะหมายถึงความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน
ไม่ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะมาจากกลุ่มไหน พรรคการเมืองใด และรมว.สาธารณสุขคนใหม่จะเป็นใคร สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการในปี 2557 คือ การเดินหน้าปฏิรูปสธ. โดยยืนอยู่บนความคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันระบบสาธารณสุขของประเทศอยู่ได้อย่างมั่นคงสมดุลทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 24 มกราคม 2557
- กระทรวงสาธารณสุข
- สธ.
- พวงชมพู ประเสริฐ
- ประดิษฐ สินธวณรงค์
- ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
- วชิระ เพ็งจันทร์
- กลไกด้านสุขภาพของชาติ
- National Health Centre
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
- ก.พ.ร.
- ศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพแห่งประเทศ
- National Health Information Centre
- ประชุมพร บูรณ์เจริญ
- สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์
- โรงพยาบาลทั่วไป
- สพศท.
- สุภัทร ฮาสุวรรณ
- รพ.จะนะ
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- สปสช.
- องค์การเภสัชกรรม
- อภ.
- Minimum Operating Cost
- MOC
- ไพศาล บางชวด
- สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข
- สวส.
- 7 views