มติชน - ณ จุดนี้คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องเผชิญกับการแสดงออกความคิดทางการเมืองของเพื่อนและคนรู้จักผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ฯลฯ
แล้วปรากฏการณ์หนึ่งก็เกิดขึ้น!!!เมื่อหลายคนเจอความคิดต่าง จนต้องอยู่ในอาการ "เสียเพื่อนเพราะการเมือง" เพราะรับไม่ได้ หรือไม่ยอมรับการแสดงออกนั้น โดยที่บางคนเลือกจบความสัมพันธ์เงียบๆ ด้วย 'อันเฟรนด์-อันฟอลโลว์' แต่บางคนกล้าในความคิด มั่นใจการแสดงออก ก็อาจจะโต้ตอบกันจนแตกหัก
"แบม" (ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม) วัย 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เล่าประสบการณ์ตรงที่ทะเลาะกับแฟนหนุ่มที่คบกันมา 6 ปี ครั้งใหญ่เพราะความเห็นต่างทางการเมืองว่า ที่ผ่านมาก็มีเรื่องทะเลาะกับแฟนเรื่องธรรมดาตามประสาคู่รักทั่วไป แต่พอเป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง กลับทำให้ทะเลาะกันใหญ่โต ชนิดที่ว่าไม่คุยกันข้ามวัน ด้วยเหตุว่าแฟนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีความคิดเอียงไปทางกลุ่ม กปปส. ขณะที่ตนเองไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายไหน แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแสดงออกของ กปปส. เพราะมองว่าอาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่ต้องการอำนาจ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำตัวดีไปกว่าอีกฝ่าย
"แรกๆ ที่พูดคุยกันเรื่องการเมือง แฟนจะรับไม่ได้ แต่ด้วยที่บ้านสอนให้แบมรับฟังความแตกต่าง ก็เลยจะเป็นฝ่ายยอมซะมากกว่า หลังๆ เริ่มทะเลาะกันเลย แต่ก็พยายามคุยกันเรื่องอื่น จนกระทั่งวันหนึ่งบอกกับแฟนว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาประชาชน เพราะอำนาจจะตกอยู่กับคนกลุ่มเดียวที่ไม่ได้มาตามระบบ ซึ่งเหมือนไปโจมตีความคิดเขา แฟนเลยมองเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เลยโกรธกัน"
แม้จะทะเลาะกัน แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดทำให้เลิกกัน แบมบอกว่า เธอพยายามค่อยๆ พูด และคิดว่าด้วยกระแสการเมืองแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะทะเลาะกัน หากพูดช่วงอื่นอาจไม่เป็นแบบนี้ก็ได้ก็ต้องเริ่มทำใจเย็นๆ
"แบมไม่ได้มีความคิดต่างทางการเมืองกับแฟนเท่านั้น แต่กับครอบครัวก็มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันเหมือนกัน ฉะนั้นต้องใช้เหตุผลมาพูดกัน คนไทยสามารถแตกต่างทางความคิดได้ แต่ต้องไม่ยั่วยุกัน บางเรื่องมองข้ามได้ก็ทำ เพราะสุดท้ายแล้วมันก็แค่ต่างกันแค่เรื่อง เรื่องเดียว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่หากเหตุการณ์ทางการเมื่อจบลงแล้ว ความต่างกันในเรื่องนี้อาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีค่าก็ได้" แบมให้ข้อคิด ขณะที่ "นา" อายุ 30 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง บอกว่า เธอมีเพื่อนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ที่ผ่านมาเพื่อนมักจะวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่เธอสนับสนุนให้ฟังเสมอ และมักโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีอีกฝ่ายทุกวัน บางวันโพสต์ครั้งเดียว บางวันโพสต์หลายครั้ง แต่ด้วยความคิดที่เห็นว่าคบกันมานาน เธอจึงอดทน และบางครั้งก็เลี่ยงที่จะไม่พูด แต่พอนานเข้าชักอดทนไม่ไหว เพราะเมื่อเปิดเฟซบุ๊กขึ้นมาทีไร ก็จะเห็นโพสต์ของเพื่อนเต็มหน้าเฟซบุ๊กเสมอ ด้วยความคิดที่ไม่อยากเสียความรู้สึกกับเพื่อนไปมากกว่านี้ เธอจึงตัดสินใจอันฟอลโลว์เพื่อนทางโลกออนไลน์อย่างเงียบๆ ขณะที่โลกออฟไลน์ เธอก็พูดกับเพื่อนคนนั้นน้อยลงไปโดยปริยาย
หลายคนคงเจอสถานการณ์ไม่ต่างจากนี้ แต่ถ้าคิดให้ดี คงไม่สวยนักที่ "มิตรภาพดีๆ" จะจบลงเพราะการเมือง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มองปรากฏการณ์นี้ว่า ขณะนี้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก และกว้างขวาง ทั้งยังมีแนวโน้มขยายวงไปเรื่อยๆ
"ที่สำคัญความแตกต่างทางความคิดเริ่มก่อตัวมากขึ้นจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ ถ้าหากเราไหลไปตามความคิดนี้จะเป็นหนทางที่น่ากลัว"
พญ.อัมพรแนะนำการแสดงออกทางการเมืองแบบไม่ให้เสียเพื่อนว่า "ต้องมีสติกับความคิด การพูด และการกระทำของตัวเอง เพราะการแสดงออกทางความคิดกับใครในช่วงที่หลายคนอยากแสดงออก เราอาจไปรบกวนหรือก้าวข้ามความเป็นส่วนตัวของเขาก็ได้ ซึ่งนี่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งมากที่สุด"
ขณะเดียวกันเราต้องมีสติเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ไปครอบงำความคิดความรู้สึกของคู่สนทนา เหล่านี้สามารถรักษาสัมพันธภาพได้ แม้จะมีความเห็นต่าง
"ทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายรักชาติเหมือนกัน แต่ที่ขัดแย้งกัน เพราะเราอาจเผลอไปคิดว่าความรักชาติของเราถูกที่สุด"
ส่วนคนที่โกรธกันอยู่ พญ.อัมพรแนะเคล็ดลับกาวใจว่า เชื่อว่าในความเป็นมิตรหรือความผูกพันเดิมที่ยังมีอยู่ เมื่อหยุดพูดเรื่องความแตกต่างทางความคิดไปแล้ว ยังสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ได้ และให้นำความขุ่นเคืองนั้นมาเป็นบทเรียนรักษาความสัมพันธ์ต่อไป
"สำคัญที่สุด ไม่ควรพูดเรื่องการเมืองในครอบครัวหรือวงเพื่อน รวมทั้งอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างสุดโต่ง และในขณะภาวะการสนทนาอยู่ในอารมณ์และความคิดรุนแรง ควรเลี่ยงอย่างยิ่ง
"ชีวิตมีหลายมิติ การเมืองเป็นเพียงมิติหนึ่งและเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ส่วนความขุ่นเคืองใจเกิดเพราะเรากำหนดให้อีกฝ่ายคิดให้เหมือนเรามากที่สุด ฉะนั้นเมื่อ เกิดความขุ่นเคืองใจแล้ว คงต้องแก้ไขที่ตัวเองก่อนและให้หยิบเรื่องอื่นมาพิจารณาร่วมด้วย อาทิ เรื่องดีๆ ที่เคยทำร่วมกันมา หรือความทุกข์ยากที่เคยผ่านด้วยกันมา สิ่งเหล่านี้ จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นใจ ในความแตกต่างทางการเมืองได้" พญ.อัมพรบอก
กฎหมายเปิดให้เราแสดงออกทางความคิดได้ แต่กฎสหายเราควรแสดงออกอย่างระมัดระวัง พึงรักษาน้ำใจไมตรีที่มีกันมาเนิ่นนาน ไม่ด่วนแตกหักสามัคคีเพราะเล่ห์การเมือง
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 396 views