สภากาชาดไทยติงไม่ควรใช้เครื่องหมายกาชาดเคลื่อนไหวการเมือง ชี้ “กาชาด” เป็นสัญญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่หวังผลกำไร แต่ไทยใช้เครื่องหมายมั่วมานาน  ล่าสุดโพสต์ FB และเวบไซต์แจงการใช้เครื่องหมายกาชาดที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 57 เวบไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า แหล่งข่าวจากสภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์ ชมรมแพทย์ชนบท บุคลากรทางการแพทย์ 9 สถาบัน ออกมาเดินรณรงค์ให้ปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง และขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการใช้ธงสีขาวที่มีเครื่องหมายกาชาดออกมาใช้ในการรณรงค์ทางการเมือง ว่า แม้จะมีบุคลากรจากสภากาชาดไทยไปร่วมเดินด้วยก็จริง แต่การออกมาเดินในครั้งนี้ไม่ใช่ในนามสภากาชาดไทย แต่เป็นกลุ่มคนจากหลายวิชาชีพด้านสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารของสภากาชาดไทยกำลังหารือกันอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นการใช้โดยไม่รอบคอบ เพราะอยากจะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่ออกมาเรียกร้องคือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพราะคนทั่วไปมักคิดว่าเครื่องหมายกากบาทสีแดงเป็นเครื่องหมายทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มักพบการใช้ผิดอยู่บ่อยครั้ง เช่น นำเครื่องหมายกาชาดไปติดในโรงพยาบาล ในรถพยาบาล แต่ความจริงแล้วเครื่องหมายกาชาดเป็นเครื่องหมายในการบรรเทาทุกข์ และหากเป็นเครื่องหมายของสภากาชาดไทยนั้น จะต้องเป็นรูปกากบาทสีแดงแล้วมีตัวอักษรสีแดงด้านล่างเขียนว่า สภากาชาดไทย The Thai Red Cross
       
“องค์กรใดที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของสภากาชาดไทย ไม่ควรใช้เครื่องหมายกาชาดที่เป็นกากบาทสีแดง เพราะเหมือนเป็นลิขสิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติที่บ่งบอกว่าเราเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่หวังผลกำไร นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้เพื่อคุ้มครองในยามสงคราม และใช้เพื่อบ่งชี้ในยามสงบว่าบุคคล หรือสิ่งของที่มีสัญลักษณ์เป็นของหน่วยงานองค์กรกาชาด แต่ไทยเราใช้เครื่องหมายนี้มั่วมานาน ซึ่งก็ได้มีการประสานให้เแก้ไข อย่างโรงพยาบาลก็แก้ไขโดยการเปลี่ยนสี เช่น สีเขียว สีน้ำเงิน เป็นต้น โดยในประเทศไทยถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐ มักจะใช้เครื่องหมายกากบาทสีเขียว (Green Cross) และ โรงพยาบาลเอกชนใช้กากบาทสีน้ำเงิน (Blue Cross)” แหล่งข่าวกล่าว
       
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตาม พ.ร.บ.กาชาด พ.ศ.2499 โดยมาตรา 9 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดใช้เครื่องหมายกาชาดโดยไม่มีสิทธิ์ตามอนุสัญญา หรือตามพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการใช้เครื่องหมายในทางที่ผิด คือการลอกเลียนใช้เครื่องหมายที่มีสี รูปร่างที่สร้างความสับสน มีการใช้ที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น และใช้เพื่อเป็นกลลวงคู่ต่อสู้ อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้ในการเดินรณรงค์ทำให้ดูเหมือนการเลือกข้าง แต่หากอยากแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็อาจต้องใช้สีอื่น ที่ไม่ใช่สีแดง หรือจริงๆ สัญลักษณ์ทางการแพทย์ก็มีรูปงูพันคบเพลิง แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นตราของ ม.มหิดล ด้วย
       
“การนำสัญลักษณ์กาชาดไปใช้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ล่าสุดมีคนโทรศัพท์เข้ามาที่สภากาชาดไทย ระบุว่า ต่อไปจะไม่มาบริจาคเลือดให้อีกแล้ว ซึ่งเราเข้าใจว่าอาจเป็นฝ่ายตรงข้ามที่คิดว่าสภากาชาดไทยมีส่วนไปร่วมเดินรณรงค์ ซึ่งเกิดจากการนำสัญลักษณ์กาชาดไปใช้ ซึ่งก็คงเรียกได้ว่าใช้ในทางที่ผิด อย่างไรก็ตาม ทางสภากาชาดไทยได้อธิบายกับผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาจนเข้าใจแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะเดียวกัน วันนี้ (21 ม.ค.) เฟซบุ๊กของสภากาชาดไทยในชื่อ “The Thai Red Cross Society” ได้โพสต์ภาพ ข้อความ และลิงก์วิดีโอเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดที่ถูกต้อง เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ ว่า “ทุกท่าน ทุกสายอาชีพ มีสิทธิส่วนบุคคลในการเลือกฝักฝ่ายใดก็ได้ แต่ไม่ควรนำเครื่องหมายกาชาดไปเกี่ยวข้องที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด กาชาดไม่ฝักฝ่ายใด มีความเป็นกลาง ตามหลักการกาชาด 7 ประการ ขอวอนทุกท่านอย่านำเครื่องหมายกาชาดไปใช้ในทางที่ผิดอีกเลยค่ะ"

และได้ชี้แจงการใช้เครื่องหมายกาชาดที่ถูกต้องดังนี้

ในปี 1859 อังรี ดูนังต์ ผู้ริเริ่มก่อตั้ง “องค์กรกาชาด” ได้พบเห็นภาพอันน่าสะพรึงกลัวจากสงครามที่เมืองซอลเฟอริโน เขาได้ให้ความช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบที่มากเกินกว่าหน่วยแพทย์พยาบาลของกองทัพจะช่วยเหลือได้ หลังจากเหตุการณ์นั้นจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้ง 1.กลุ่มอาสาสมัครในทุกประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสงคราม 2.แนวทางและหลักการ เพื่อใช้ในการคุ้มครองบุคลากรที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือในสงคราม
       
ทั้งนี้ เครื่องหมายกาชาด เป็น 1 ในเครื่องหมายมนุษยธรรม 3 แบบ โดยอีกสองแบบที่เหลือคือเสี้ยววงเดือนแดง และคริสตัลแดง ซึ่งเครื่องหมายทั้ง 3 แบบ ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และสงวนไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งมนุษยธรรมที่ “เป็นกลาง” “ไม่เลือกปฏิบัติ” และ “ไม่หวังผลกำไร” โดยใช้เครื่องหมายนี้เพื่อการคุ้มครองในยามสงคราม และใช้เพื่อบ่งชี้ในยามสงบ ว่าบุคคลหรือสิ่งของต่างๆ เป็นของหน่วยงานองค์กรกาชาด อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องหมายในทางที่ผิด คือ นำไปลอกเลียนใช้เครื่องหมายที่มีสีหรือรูปร่างที่สร้างความสับสน รวมไปถึงการใช้ที่ไม่เหมาะสม ใช้ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การใช้โดยองค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้เพื่อจุดมุ่งหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานขององค์กรกาชาดฯ รวมไปถึงการใช้เพื่อเป็นกลลวงคู่ต่อสู้


       

อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องหมายดังกล่าวมีการกำหนดการใช้ใน พ.ร.บ.กาชาด พ.ศ.2499 มาตรา 9 ระบุว่า ผู้ใดใช้เครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาดโดยไม่มีสิทธิตามอนุสัญญา หรือตาม พ.ร.บ.นี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 10 ผู้ใดใช้เครื่องหมายหรือถ้อยคำใดๆ เลียนแบบเครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาด หรือคล้ายคลึงเครื่องหมายหรือนาม เช่นว่านั้นจนอนุมานได้ว่าทำเพื่อหลอกลวงประชาชนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 11 ผู้ใดกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ด้วยความมุ่งหมายทางการเงินหรือทางการพาณิชย์ใดๆ ประทับเครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาดบนสินค้าเพื่อขาย เป็นต้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากพบเห็นการใช้เครื่องหมายกาชาดที่ไม่ถูกต้องให้แจ้งมาที่สำนักงานบริหาร สภากาชาดไทย โทร.02-256-4088