ฐานเศรษฐกิจ - เอไซญี่ปุ่น ปรับโครงสร้างบริษัทในไทย แยก 2 กลุ่มธุรกิจบุกตลาดในประเทศและกลุ่มอินโดจีน เดินแผนสร้างยอดขาย 2 พันล้านในอีก 6 ปีข้างหน้า เพิ่มสัดส่วนยอดขายในอินโดจีนเป็น 40% จากปัจจุบัน 25% พร้อมวางแผนอนาคตลุยตั้งบริษัทในเมียนมาร์และเวียดนาม ขณะที่ตลาดในประเทศเดินหน้าขยายฐานกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ และร้านขายยา หลังตลาดภาครัฐมีข้อจำกัดเพียบและลดงบซื้อยา

ภ.ก.ดร. ทวีศักดิ์ สีทองสุรภณา ประธานที่ปรึกษา บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยาในกลุ่มเอไซ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เพื่อเตรียมความพร้อมและการบุกตลาดในกลุ่มประเทศอินโดจีน ทางบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ปรับโครงสร้างธุรกิจในประเทศไทยใหม่ ด้วยการแยกหน่วยธุรกิจยาออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจเพื่อดูแลตลาดยาในประเทศไทย และตลาดยาในประเทศกลุ่มอินโดจีน ได้แก่ ประเทศเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป ตามปีงบประมาณของบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งผู้จัดการทั่วไปขึ้นมาดูแลธุรกิจทั้ง 2 หน่วยดังกล่าว ได้แก่ ภ.ก.ณัฐพันธ์ นิมมานพัชรินทร์ ดูแลธุรกิจในประเทศไทย และภ.ก.สมพล วุฒิกรวิภาค ดูแลธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งกลุ่มประเทศอินโดจีนจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณการตลาดจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรง เพื่อบุกตลาดในประเทศอินโดจีนเพิ่มมากขึ้น โดยซื้อยาจากบริษัท เอไซ (ประเทศไทย)ฯ เข้าไปทำตลาด และประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตยาที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน

ภ.ก.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการบุกตลาดกลุ่มประเทศอินโดจีน โดยเพิ่มการลงทุนด้านการตลาด และทีมบุคลากร โดยเฉพาะทีมขายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากเดิมมีทีมขาย 60 คนเพิ่มขึ้นเป็น 110 คน พร้อมกับการตั้งเป้าหมายการเติบโตในอัตรา 30% ส่วนธุรกิจยาในประเทศไทยจะรักษาระดับการเติบโตไว้ในอัตรา 2-3% เท่านั้น ซึ่งเป็นเพราะธุรกิจยาในประเทศไทยมีการแข่งขันสูง ประกอบกับข้อจำกัดในการจำหน่ายยาเข้าไปในหน่วยงานและโรงพยาบาลของภาครัฐ

"ตลาดยาเมืองไทยมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท ไม่ได้เติบโตมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะตลาดยาเมืองไทย ในกลุ่มโรงพยาบาลของรัฐและหน่วยงานของรัฐมีข้อจำกัดมาก ทั้งเรื่องการเบิกจ่าย การควบคุม และการซื้อยา มีการลดงบประมาณในการสั่งซื้อยา ทำให้มีผลต่อยอดขายของบริษัท นโยบายจึงเน้นรักษาการเติบโตไม่ให้ลดลงจากเดิม ซึ่งตลาดยาของโรงพยาบาลภาครัฐเติบโตติดลบอัตรา 3-5% มาหลายปีแล้ว แต่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในอัตรา 7-8% ส่วนตลาดยาในร้านขายยามีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ทำให้บริษัทจะเน้นการขยายตลาดไปสู่กลุ่มร้านขายยา และกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ด้วย"

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ 1.5 พันล้านบาท เป็นรายได้จากประเทศไทย 1.1 พันล้านบาท และรายได้จากกลุ่มประเทศอินโดจีนอีก 400 ล้านบาท ซึ่งตามแผนระยะ 6 ปี ภายในปี 2563 บริษัทคาดว่าจะทำยอดขายได้รวม 2 พันล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากประเทศไทย 60% และรายได้จากกลุ่มประเทศอินโดจีนสัดส่วน 40% หรือมีมูลค่า 700-800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 25% ซึ่งในอนาคตภายหลังจากการบุกตลาดในอินโดจีนจนประสบความสำเร็จแล้ว บริษัทแม่มีแนวทางในการจัดตั้งบริษัทในประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ เพื่อดำเนินธุรกิจภายในประเทศโดยเฉพาะด้วย

ประธานที่ปรึกษา กล่าวต่ออีกว่า บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นยังคงวางนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยาในภูมิภาคอาเซียน โดยวางแนวทางในการขยายกำลังการผลิตด้วยการเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมทุนกับบริษัทหรือโรงงานผลิตยา ซึ่งบริษัทแม่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณการลงทุน หากมีพันธมิตรที่มีศักยภาพ มีปริมาณยาที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวนมาก หรือเป็นยาที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว และโอกาสในการลงทุนร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทุนกับพันธมิตร 2-3 ราย

"ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตยาให้แล้ว 1 แห่ง เป็นยาออริจินัลที่ขายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ที่กำลังหาโรงงานเข้ามาเพิ่ม เป็นกลุ่มแบรนเด็ด เจเนอริค หรือยาที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว สามารถนำมาผลิตต่อได้ เช่น ยารักษามะเร็ง รักษาความดันโลหิตสูง เป็นต้น ที่มีการเจรจาอยู่บางแห่งได้ยามาเพียงบางส่วน แต่บริษัทต้องการได้ยาที่มีทะเบียนจำนวนมาก และตอบโจทย์ทางธุรกิจ เพราะเท่าที่เจรจาได้มาจะไม่ตอบโจทย์หรือทะเบียนยามีศักยภาพเพียงพอ เนื่องจากบริษัทต้องรุกตลาดเออีซี ซึ่งมีความเป็นไปได้บริษัทน่าจะได้พันธมิตร 1 รายเข้ามาเสริมการผลิต โดยมีมูลค่าการร่วมทุนหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,914 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2557

ที่มา: http://www.thanonline.com