กรุงเทพธุรกิจ - สถานะกองทุนประกันสังคมกำลัง ถูกจับตา โดยเฉพาะเรื่องของความมั่นคงในระยะยาว ซึ่งเป็นความท้าทายที่บอร์ดบริหารกองทุน ต้องเตรียมพร้อมรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้น เมื่อสมมติฐานของ "ทีดีอาร์ไอ" ระบุว่ากองทุนประกันสังคมอาจจะขาดสภาพคล่องหรือล้มละลายใน 30 ปี เนื่องจากสัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน แม้จะขยายการลงทุนสุดกำลังก็ได้กำไรไม่ถึง 10% ซึ่งข้อเสนอล่าสุดให้ปรับวิธีการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เพื่อความอยู่รอดของกองทุน
กองทุนประกันสังคม ครบกำหนดเริ่มต้นจ่ายเงินบำนาญกรณีชราภาพ ในปี 2557 ประเดิมงวดแรก 25 ก.พ.นี้ ให้กับแรงงานที่สมทบเงินเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปี กำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามอง ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่าปัญหาความมั่นคงในระยะยาวของกองทุนประกันสังคม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทางคณะกรรมการกองทุนรับทราบ เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้มุ่ง ไปที่ต้นตออย่างแท้จริง
ซึ่งจากการที่ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการกำหนดอัตราบำเหน็จบำนาญ ทำให้ได้เห็นถึงวิธีคิดและวิธีทำงานที่มุ่งแก้ปัญหา เน้นไปที่การลงทุนหาผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง โดยหวังว่าจะสามารถนำผลตอบแทนไปช่วยกองทุนได้ ทั้งที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้ทำการคำนวณแล้วว่า แม้กองทุนประกันสังคมจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังได้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้กองทุนติดลบในอนาคตนั้น เกิดจากโครงสร้างประชากรที่คนอายุยืนยาวมากขึ้น ทางกองทุนจึงต้องจ่ายเงินบำนาญให้กับแรงงานจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนต่างมากกว่าอัตราการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน
ดร.วรวรรณ บอกว่าขณะนี้มีการประกาศออกมาแล้วว่า ในปี 2557 แรงงานที่สมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่ออายุครบ 55 จะได้รับบำนาญชราภาพ ร้อยละ 20 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยมีการกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 720 บาท
เช่น หากคิดจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 3,600 บาท ในแต่ละเดือนแรงงานจะถูกหักเงินเข้าประกันสังคม ร้อยละ 3 หรือ 108 บาท และนายจ้างสมทบอีก ร้อยละ 3 รวมเป็นเงิน 216 บาท เท่ากับ 2,592 บาทต่อปี หลังจากสมทบมาแล้ว 180 เดือน จำนวนเงินที่จ่ายสมทบทั้งหมดจะเท่ากับ 55,931 บาท
ซึ่งหากว่าเริ่มต้นหยุดทำงานหลังจากนี้ ก็จะได้รับบำนาญกรณีชราภาพ เดือน ละ 720 บาท หรือ 8,640 บาทต่อปี หากรับไปเรื่อยๆ จะเริ่มได้กำไรตั้งแต่ปีที่ 7 เมื่อ อายุ 62 ปี โดยสมมติว่าเสียชีวิตเมื่ออายุ 90 ปี จำนวนเงินที่ได้รับทั้งหมดคือ 259,200 บาท เท่ากับว่าได้กำไรถึง 203,269 บาท ซึ่งแรงงานที่ฐานเงินเดือนสูงก็จะยิ่งได้กำไรมากขึ้นตามสัดส่วน
ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้กองทุนประกันสังคม สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และหุ้นกู้เอกชน 60% และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ หน่วยทุน และหุ้นสามัญ 40% เพื่อให้กองทุนมีความปลอดภัย เมื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่มาก ผลตอบแทนที่ได้รับจึงไม่สูงมากนัก
ทำให้เป็นไปได้ยากที่ทางกองทุนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนที่เก่งและเชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้ถึง 10% อย่างแน่นอน และหากว่าคณะกรรมการยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอีก 25 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นเงินในกองทุนลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นอีก 5 ปี กองทุนก็จะติดลบและ ล้มลงในที่สุด
"หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ เชื่อว่าอีก 30 ปี กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง ซึ่งหลังฝ่ายการเมืองเห็นว่าเงินในกองทุนประกันสังคมลดลงอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะมีการปล่อยสำนักงานประกันสังคมออกเป็นอิสระ
ดังนั้นแม้ว่าตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 24 จะระบุว่าหากเงินในกองทุนไม่พอจ่าย รัฐสามารถช่วยเหลือได้ตามความเหมาะสม แต่ด้วยสถานภาพที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐแล้ว ในทางปฏิบัติจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย สุดท้ายแรงงานผู้ประกันตนรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถคาดหวังได้เลยว่า จะได้รับเงินบำนาญกรณีชราภาพก้อนนี้"
ดร.วรวรรณ บอกด้วยว่าแม้ขณะนี้จะมีบางฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องให้ประกันสังคมออกนอกระบบ โดยคาดหวังว่าระบบบริหารงานภายใต้คณะกรรมการใหม่ น่าจะมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ปัญหาความมั่นคงของกองทุนได้ แต่ส่วนตัวก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าวันหนึ่งหากผู้เรียกร้องได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ จะยังต้องการให้ประกันสังคมออกนอกระบบอยู่อีกหรือไม่
ขณะเดียวกันบางกลุ่มก็เรียกร้องขอสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกเรื่องซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทั้งสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร รวมถึงการเพิ่มเงินบำเหน็จบำนาญ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาทางการเงินมากขึ้นไปอีก
ดร.วรวรรณ เห็นว่าแนวทางแก้ปัญหาความมั่นคงของกองทุน จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการจ่ายบำนาญชราภาพ โดยมี 2 แนวทาง คือ 1.การเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วคงไม่มีใครอยากจ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน
และ 2.จ่ายเงินบำนาญแบบบัญชีใครบัญชีมัน สมทบเท่าไหร่จ่ายคืนเท่านั้น เช่น หากแรงงานจ่ายเงินสมทบไปทั้งหมด 150,000 บาท ในวันที่คำนวณเงินบำนาญก็ให้เอาเงินก้อนนี้ไปคิดคำนวณ โดยตัดเงินส่วนต่างในส่วนที่เป็นกำไรออกไป ซึ่งจะช่วยลดภาระเงินส่วนต่างที่กองทุนต้องแบกรับ และหากว่าแรงงานผู้ประกันตนต้องการมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามชราภาพมากขึ้น ก็จำเป็นต้องหันไปออมเงินทางอื่นควบคู่ไปด้วย
กัน8แสนล้านจ่าย'บำเหน็จ-บำนาญ'
นายชัยวัฒน์ พันธ์พานิช ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ สำนักงานกองทุนประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์และประเมินสถานะกองทุนประกันสังคม ซึ่งที่มีการจัดประชุมประเมินสถานะความมั่นคงมาโดยตลอด เชื่อว่าการขาดสภาพคล่องของกองทุนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะในแต่ละปียังมีเงินที่แรงงานและนายจ้างจ่ายสมทบเข้ามา อยู่ตลอด ขณะเดียวกันก็มีกำไรจากการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ประเมินต่ำสุดอย่างน้อย ปีละ 1 หมื่นล้านบาท
นายชัยวัฒน์ บอกอีกว่า ขณะนี้ตัวเลขกลมๆ ของเงินกองทุนประกันสังคม มีอยู่ทั้งหมด กว่า 1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินสำหรับจ่ายบำเหน็จและบำนาญกรณีชราภาพ 8 แสนล้านบาท ซึ่งการคาดการณ์ปัญหาสภาพคล่องของกองทุนนั้น เกิดจากการนำเงินก้อนนี้ไปคำนวณบนพื้นฐานที่ว่าจำนวนเงินไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงเงินกองทุนยังคงเพิ่มขึ้น จากการจ่ายเงินสมทบของทั้งแรงงานและนายจ้าง
และกำไรจากการลงทุนตามที่เรียนไปในข้างต้น โดยเฉพาะในช่วงหลังมีการลงทุนเข้มข้นมากขึ้น ทำให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยสัดส่วนกำไร ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ในภาพรวมจึงกล่าวได้ว่ากองทุนประกันสังคมยังมีความมั่นคงอยู่มาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลระบุว่าในปี 2557 แรงงานผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี และอยู่ในข่ายผู้ได้รับบำนาญกรณีชราภาพ ตาม ม.33 และ ม.39 ทั่วประเทศ 113,361 คน แต่จากการคาดการณ์เชื่อว่าจะมีแรงงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์รับบำนาญกรณีชราภาพ ซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ไม่น้อยกว่า 180 เดือน ติดต่อกันทุกเดือนโดยไม่ขาดตกบกพร่องและเลิกทำงานทันที จะมีเพียงประมาณ 3,000 - 5,000 คน
ในเบื้องต้นจึงคาดว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเป็นบำนาญ ในปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ขณะที่แรงงานที่ขอรับเงินบำเหน็จก็คาดว่าจะมีประมาณ 100,000 คน เทียบเคียงกับปี 2555 โดยจำนวนเงินที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท รวมแล้วจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายเป็นค่าบำเหน็จและบำนาญ ประมาณ 8,500 ล้านบาท
ขณะที่ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.)บอกว่าจากการศึกษาวิจัยพบแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงของกองทุนได้ คือ การขยายอายุการทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานภาคเอกชน ที่ขณะนี้กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 55 ปี เป็น 60 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มข้าราชการ โดยตามกฎหมายผู้ประกอบการยังคงต้องจ่ายเงินสมทบให้จนถึงอายุ 60 ปี และเมื่อแรงงานทำงานนานขึ้นก็จะรบกวนเงินกองทุนประกันสังคมน้อยลง เพราะยังมีรายได้ในแต่ละเดือนจากการทำงานอยู่ ขณะเดียวกันแรงงานก็ไม่ได้ถูกตัดสิทธิในการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนต่อไป ในภาพรวมเงินของกองทุนประกันสังคมก็จะไหลออกช้าลง
'หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ เชื่อว่า อีก 30 ปี กองทุนประกันสังคม จะขาดสภาพคล่อง' วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 มกราคม 2557
- 3 views