คมชัดลึก - อุทาหรณ์สาววัย 32 กินยาแคปซูลผงบุกลดความอ้วน แพ้รุนแรง ผิวลอกคล้ายถูกไฟไหม้ เภสัชกรเผย เลขที่ อย.ปลอม
เมื่อวันที่ 14 มกราคม ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า น.ส.ไก่ (นามสมมุติ) อายุ 32 ปี กินยาลดความอ้วน และเกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีแผลตามเยื่อบุต่างๆ ผิวหนังหลุดลอกคล้ายถูกไฟไหม้ เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม จนถึงปัจจุบัน ที่โรงพยาบาลสกลนคร แพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หลังรับแจ้งผู้สื่อข่าวจึงไปตรวจสอบ
เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ผู้สื่อข่าวพบนายเอ (นามสมมุติ) เพื่อนคนสนิทของ น.ส.ไก่ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา น.ส.ไก่ซื้อยาแคปซูลผงบุกสีเขียวมาจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ที่กล่องระบุสรรพคุณว่า ช่วยลดน้ำหนัก และยังมีเลขที่อนุญาต ประกอบกับคิดว่าเป็นเพียงแค่สมุนไพร จึงซื้อมากินเพื่อหวังจะลดความอ้วน แต่หลังจากกินยาลดความอ้วนผงบุกไปแล้ว 3 สัปดาห์ ปรากฏว่าเกิดมีอาการไข้ วิงเวียนศีรษะ ต่อมามีไข้ขึ้นสูง เข้าพบแพทย์ แต่อาการไม่ดีขึ้นต้องกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง เมื่อแพทย์ตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง จึงพบว่าเป็นอาการแพ้ยาดังกล่าว โดยเป็นสารไซบูทรามีน ที่ผสมอยู่ในยาดังกล่าว ซึ่งมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขณะนี้ปลอดภัยในระดับหนึ่ง อาการแพ้หายแล้ว ขณะนี้อยู่ในเรื่องของการรักษาผิวหนังที่กำลังหลุดลอก
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เข้าพบ นายกิตติศักดิ์ ไท้ทอง หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัช สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว และได้รับการเปิดเผยว่า หลังจากได้รับแจ้งกรณีดังกล่าวก็ได้นำ ผลิตภัณฑ์แคปซูลผงบุก กล่องสีฟ้าชนิดเดียวกัน ต่างกันแค่สีกล่อง ซึ่งมีผู้หาซื้อมาได้ โดยที่กล่องบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ระบุชื่อผู้ผลิตและสถานที่ผลิต เมื่อนำมาตรวจสอบพบว่าตัวยาในแคปซูลมีกลิ่นสมุนไพร แต่ผงบุกที่อิ่มตัวแทบจะไม่มีเลยหรือมีน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีการเจือปนสารไซบูทรามีน ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เบื่ออาหาร
ทั้งนี้ ผู้นำเข้ายาในประเทศไทยได้แจ้งถอนยาที่มีสารไซบูทรามีน และยกเลิกทะเบียนตำรับยาดังกล่าวในประเทศไทยไปแล้ว เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่ายาดังกล่าวมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ โดยผลข้างเคียงคือ บางรายอาจมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น มักพบอาการปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และเบื่ออาหาร สำหรับผู้แพ้สารไซบูทรามีนอาจทำให้เกิดอาการแพ้ขั้นรุนแรง เช่น มีแผลบริเวณเยื่อบุต่างๆ ได้แก่ ปาก ตา ผิวหนังเหมือนไฟไหม้ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผงบุกจะมีวางขาย โดยรูปแบบบรรจุภัณฑ์ในท้องตลาดที่พบจะมีสีฟ้า สีเขียว สีชมพู ซึ่งแม้จะหลากหลาย แต่ก็มีลักษณะร่วมกันที่ต้องสังเกต 4 ประการ คือ 1.มีลักษณะแผง Blister ภายในและเม็ดยาที่เหมือนกัน 2.ไม่ระบุแหล่งผลิต ผู้ผลิต 3.ใช้เลขทะเบียน อย.ปลอม หากผ่านการตรวจสอบจะต้องมีตัว G เนื่องจากเป็นยาประเภทยาแผนโบราณ แต่ในตัวอย่างดังภาพไม่มีปรากฏ 4.มักมีการอ้างว่า ผลิตโดยอาจารย์แพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน จึงมีความปลอดภัยสูงและรับรองโดยอาจารย์แพทย์ แต่จากการตรวจสอบแล้วเป็นการกล่าวอ้างเท็จ
นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ภายหลังได้รับทราบเรื่อง สั่งการให้เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล และไปตรวจสอบ เพื่อหาแหล่งผลิต แต่ค่อนข้างจะหาแหล่งผลิตลำบาก เนื่องจากกล่องบรรจุภัณฑ์ไม่ระบุสถานที่ผลิต ต้องสืบหาข้อมูลและประสานไปยังหลายจังหวัด พร้อมประกาศแจ้งเตือนแล้ว เนื่องจากยาประเภทนี้มีสารที่มีผลข้างเคียง ไม่ปลอดภัยและอันตรายต่อคนที่แพ้ยา โดยจะมีการออกตรวจสอบตรวจยึดจับกุมและดำเนินคดี ทั้งผู้ผลิต ผู้มาจำหน่ายต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 15 มกราคม 2557
- 127 views