คมชัดลึก - อย.เปิด'แอพพลิเคชั่น'เตือนภัยครีมทาผิวขาว :  สายตรวจระวังภัย ทีมข่าวอาชญากรรม

ค่านิยมผิวขาวใส กำลังระบาดอย่างหนักในกลุ่มวัยรุ่นไทย ทำให้เกิดช่องทางการ "โฆษณาเกินจริง" จนวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปใช้ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบ เป็นจ้ำเลือด ผิวแตกลาย บางจุดผิวหนังเริ่มบางลง เพราะมีส่วนผสมของสารต้องห้าม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ล่าสุดวัยรุ่นใน จ.เพชรบุรี ใช้ครีมทาผิวขาวที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้เป็นเวลานานตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี ส่งผลทำให้ผิวลายแตกงา เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ส่วนใหญ่ครีมประเภทนี้จะใช้วิธีแบ่งขาย ผสมเอง ติดฉลากเป็นภาษาจีน วางขายกันอย่างแพร่หลายทั้งทางอินเทอร์เน็ต ร้านค้าแผงลอย รวมถึงการบอกปากต่อปากในกลุ่มเพื่อน คนใกล้ชิด

"สีผิวของคนไทยและของคนเอเชียมีสีผิวที่เป็นธรรมชาติ ลักษณะออกเหลืองแดง เพราะฉะนั้นไม่มีสารเคมีหรือยา ผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่จะทาแล้วสามารถเปลี่ยนสีผิวได้อย่างถาวร ถ้าหยุดใช้ สีผิวจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม" ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวระบุชัดเจน

ภก.ประพนธ์ เปิดเผยว่า จากการที่สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีได้เก็บตัวอย่างครีมทาผิวที่วางขายในท้องตลาด ปรากฏว่าในผลิตภัณฑ์บางประเภทไม่ได้มาตรฐาน ตรวจพบสารอันตรายต้องห้าม คือ สารคีโตโคนาโซล (ketoconazole) สารตัวนี้จะส่งผลทำให้ผิวบาง ช่วงแรกๆ ที่ใช้ผิวอาจจะขาว แต่เมื่อหยุดใช้สีผิวจะกลับมาเหมือนเดิม ไม่สามารถทำให้ขาวถาวรได้ เพราะผิวหนังมนุษย์ตามธรรมชาติจะมีเอกลักษณ์ที่ของตนเอง ครีมบางตัวตรวจพบสารไฮโดรควิโนน ก่อนหน้านี้ถือเป็นสารเคมีที่ได้รับความนิยมนำมาเป็นส่วนผสมครีม เนื่องจากเห็นผลเร็ว ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง หรือที่เรียกว่า เมลานิน ทำให้ผิวขาวขึ้นได้

สำหรับวิธีการตรวจสอบ สารไฮโดรควิโนน ใช้วิธีการนำน้ำละลายผงซักฟอกมาหยดลงบนตัวครีม ถ้าครีมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแสดงว่าครีมมีส่วนผสมของสารอันตราย แต่ถ้าตรวจหาสารปรอทต้องใช้ชุดตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้ประกาศให้ประชาชนทราบมาโดยตลอด ที่พบส่วนใหญ่ก็เป็นพวกครีมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต ไม่มีเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอาง ให้ประชาชนสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าครีมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย และชื่อที่อยู่ผู้ผลิตที่ถูกต้องชัดเจน ไม่มีเลขจดแจ้ง 10 หลัก ถือว่าเป็นครีมที่ผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อการมีส่วนผสมของสารต้องห้าม

"ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดแอพพลิเคชั่น "Oryor smart application" ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะการตรวจเช็กเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ได้รับการแจ้งจดเลข 10 หลักหรือไม่ รวมทั้งสามารถร้องเรียนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน สามารถหาดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android"

ผู้ประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางต้องจดแจ้งผลิตภัณฑ์กับ อย. ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ต้องจดแจ้งผลิตภัณฑ์ แล้ว อย.ก็จะทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ถ้าดำเนินการไม่ได้มาตรฐานจะถูกดำเนินคดี ผู้จำหน่ายเครื่องสำอางผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ขายหากขายสินค้าที่ไม่มีฉลาก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สามารถตรวจสอบเลขจดทะเบียนได้จากเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือจากแอพพลิเคชั่นดังกล่าว หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบการกระทำผิด

ที่มา: http://www.komchadluek.net