เนื่องในวันเด็กแห่งชาติในปีนี้ องค์การยูนิเซฟได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการลงทุนเกี่ยวกับเด็กอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในการที่จะฝ่าฟันความท้าทายต่างๆในอนาคต แม้ว่าผลสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กในประเทศไทยจะชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับเด็กก็ตาม
ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งเก็บข้อมูลจากการสำรวจใน 27,000 ครอบครัวทั่วประเทศไทย พบว่า อัตราการเข้าเรียนของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ใน พ.ศ. 2549 เป็นร้อยละ 85 ใน พ.ศ. 2555 ในขณะที่การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของเด็ก เพิ่มจากร้อยละ 47 เป็นร้อยละ 71 ในช่วงเดียวกัน
การสำรวจครั้งนี้ จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟเมื่อปลาย พ.ศ. 2555 โดยได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีกว่า 100 ตัวชี้วัด ซึ่งจะมีการตีพิมพ์รายงานผลสำรวจอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ายังมีความเหลื่อมล้ำในกลุ่มเด็กยากจนที่สุดที่อาศัยอยู่ในชนบท ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนมีอัตราสูงสุดในกลุ่มครอบครัวร่ำรวยที่สุด (ร้อยละ 87) เมื่อเทียบกับอัตราต่ำที่สุดในกลุ่มครอบครัวยากจนที่สุด (ร้อยละ57)
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าเกี่ยวกับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทยยังเป็นไปอย่างช้า โดยแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 ใน พ.ศ. 2549 เป็นร้อยละ 12.3 ใน พ.ศ. 2555 แต่ยังคงเป็นอัตราที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในเอเชียและทั่วโลก และยังพบว่ามีแม่ประมาณร้อยละ 15 ในประเทศไทยที่ไม่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เลย
“ประเทศไทยสามารถภูมิใจได้ถึงความก้าวหน้าในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนจะได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาสเท่าเทียมกันเพื่อพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ” นายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยกล่าว
ผลการสำรวจยังพบว่ามีเด็กประมาณร้อยละ 23 หรือกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทยที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ย้ายถิ่นเพื่อไปหางานทำ โดยหนึ่งในสามของเด็กในกลุ่มครอบครัวที่ยากจนที่สุด ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่
“ประเทศไทยมีนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ดีมาก ซึ่งหากได้รับการนำไปใช้อย่างจริงจังและมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถแก้ปัญหาและความท้าทายต่างๆ ได้” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวเสริมว่าผลการวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยจะช่วยพัฒนาทักษะทางการเรียนรู้ สังคมและอารมณ์ให้แก่เด็ก และยังเป็นช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว นอกจากนี้ ยังช่วยลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการก่ออาชญากรรม ผลการวิจัยยังชี้ว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยให้ผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าการลงทุนเมื่อเด็กโตขึ้น
“ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราการเกิดน้อยลงและประชากรมีอายุยืนขึ้น นั่นหมายความว่า เด็กในวันนี้ต้องได้รับการเตรียมพร้อมให้เป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพมากกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ การลงทุนในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยจึงเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจที่สมเหตุสมผล” นายพิชัยกล่าว
- 10 views