ปี 57 สปสช.จัดงบส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับคนไทย 65 ล้านคน 18,740 ล้านบาท กระจายสู่พื้นที่และสถานพยาบาลเพื่อจัดบริการครอบคลุมตั้งแต่งานอนามัยมารดา ฝากครรภ์ ตรวจคัดกรองโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม เอชไอวี งานอนามัยเด็ก ตั้งแต่การให้วัคซีนขั้นพื้นฐานในกลุ่มอายุต่างๆ ทันตกรรม จนถึงการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม คัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูง และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในชุมชน ผ่านกลไกกองทุนสุขภาพตำบล
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญหนึ่งของการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีการกระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่อย่างเป็นธรรม และกระตุ้นให้สถานพยาบาลมีแรงจูงใจที่เหมาะสมในการให้บริการมากขึ้น โดยการจ่ายเงินตามผลงาน และความครอบคลุมของการให้บริการ ในปี 2557 สปสช.ได้รับสำหรับการส่งเสริมป้องกันโรค 288.88 บาทต่อคนไทยทุกสิทธิ 65 ล้านคน เป็นเงิน 18,740 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 รายการหลัก คือ สร้างเสริมป้องกันโรคในระดับประเทศ ระดับพื้นที่ บริการพื้นฐาน และสนับสนุนการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ งานอนามัยมารดา ทั้งการฝากครรภ์ ที่รวมถึงการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ตรวจเอชไอวี และสุขภาพช่องปาก การตรวจหลังคลอด และการวางแผนครอบครัว
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ขณะที่งานอนามัยเด็ก ได้แก่ การตรวจคัดกรองภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน(TSH) ในทารกแรกเกิด การให้วัคซีนพื้นฐาน วัคซีน MMR (หัด คางทูม หัดเยอรมัน) ในเด็กอายุ 0-1 ปี วัคซีน JE3 (ไข้สมองอักเสบครั้งที่ 3) ในเด็กอายุ 1-3 ปี วัคซีน DTP5 (คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก) ในเด็กอายุ 3-5 ปี วัคซีน MMRs (หัด คางทูม หัดเยอรมัน)ในเด็กนักเรียน ป.1 วัคซีน dTs4 (คอตีบ บาดทะยัก) ในเด็ก ป.6 การตรวจพัฒนาการ การประเมินภาวะโภชนาการ และทันตกรรม นอกจากนั้นมีการคัดกรองโรคซึมเศร้า การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทันตกรรมส่งเสริมป้องกันและทันตกรรมประดิษฐ์
นพ.วินัย กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับพื้นฐานในระดับบุคคล ขณะที่ในระดับชุมชนนั้น สปสช.ได้ร่วมกับอบต.และเทศบาลทั่วประเทศในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งสปสช.ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่มาจากท้องถิ่นเอง และจัดการโดยคนท้องถิ่น เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจการจัดการด้านสุขภาพ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมการจัดการ ซึ่งแก้ปัญหาได้ตรงจุด เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบ กลุ่มเป้าหมาย เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ขณะเดียวกันก็เน้นการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ เช่น เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนเป็นตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพื้นที่ต่างๆได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีอบต.และเทศบาลตั้งกองทุนสุขภาพตำบล 7,751 แห่ง
- 6 views