บ้านเมือง - ปัจจุบันงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความใกล้ชิดและได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชน และมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนมากขึ้น ถือเป็นจิ๊กซอว์อีกหนึ่งชิ้นสำคัญที่จะคอยทำหน้าที่ในการตรวจสอบเฝ้าระวัง และคอยเตือนภัยอันตรายให้แก่ประชาชน จากเชื้อโรคและสารพิษต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องสำอาง ยา หรือสมุนไพร

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจวิเคราะห์วิจัยทางห้องปฏิบัติการระดับประเทศและภูมิภาคเอเชีย ที่หน่วยงานระดับสากลอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับ มีภารกิจในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง คัดกรอง ประเมินความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อคุ้มครองประชาชน ซึ่งนอกจากจะมีความสามารถในการประเมินคุณภาพมาตรฐานของห้องแล็บอื่นๆ เพื่อให้แต่ละแห่งมีมาตรฐานเดียวกันแล้ว ยังได้รับอนุญาตจากองค์กรระดับโลกที่ใช้มาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 ให้รับรองห้องแล็บทางด้านอาหาร ยา และเครื่องสำอางภายในประเทศ และยังได้ขยายการรับรองไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย

น.พ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัวเรือใหญ่ในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมวิทย์ฯ ยังคงมีการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น ยา วัคซีน รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายโดยการนำวิธีการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพทางห้องปฏิบัติการซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวิเคราะห์มาพัฒนา หรือย่อส่วนของห้องปฏิบัติการเป็นชุดทดสอบอย่างง่ายกว่า 30 ชุด เช่น ชุดทดสอบบอแรกซ์ ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร ชุดทดสอบ สเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ ชุดทดสอบสารห้ามใช้ในครีมทาหน้า ชุดทดสอบโรคเลปโตสไปโรซิส เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ได้ง่าย รู้ผลเร็ว สามารถใช้ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพและวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ทั้งด้านอาหาร ยา และด้านชันสูตรโรค ล่าสุดกรมวิทย์ฯ ได้พัฒนา "ชุดทดสอบสารฟอสฟีน" ในข้าวสาร เพื่อใช้เป็นชุดตรวจภาคสนามอย่างง่ายชุดแรกของประเทศและรู้ผลเร็วเพียง 20 นาที ให้ผลแม่นยำใกล้เคียงกับผลตรวจในห้องปฏิบัติการ ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ตรวจสอบได้ด้วยตัวเองก่อนส่งออก ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาระบบการผลิตและป้องกันสารรมควันตกค้างเกินค่ามาตรฐาน พร้อมเป็นการการันตีความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังได้สนับสนุนให้มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในตลาดค้าส่งผักผลไม้ในหัวเมืองสำคัญของแต่ละภูมิภาค เพื่อรองรับการตรวจสอบสารเคมี หรือสารอันตรายที่อาจปนเปื้อนมากับผัก ผลไม้ หรืออาหารต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวต่อไปในปี 2557 นี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ตามสโลแกน "สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่" น.พ.อภิชัย บอกว่า กรมวิทย์ฯ ได้เตรียมความพร้อมในด้านงานสาธารณสุขทั้งบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำงานเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายด้านสาธารณสุขทั้งหมด เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจะดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก คือ

1.สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางห้องปฏิบัติการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมยา สมุนไพร และอาหาร เพื่อให้ต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการตรวจแจ้งเตือนผลที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ที่ส่งผล กระทบในวงกว้างให้มีการพัฒนา ปรับปรุงและแก้ไขต่อไป ซึ่งการพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้ หรือช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ประชาชนผู้บริโภคมีความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นั้นมากขึ้น

2.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของกรมวิทย์ฯ เนื่องจากสารปนเปื้อนมีอยู่หลายชนิด ดังนั้น การศึกษา วิจัย เพื่อหาค่าปกติ (Baseline Data) ของสารพิษที่เป็นปัญหา หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหา เพื่อใช้เป็นค่าอ้างอิงในเวลาที่เกิดเหตุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน หรืออย่างกรณีพบการปนเปื้อนสาร ฟอสฟีน ซึ่งเป็นแก๊สชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรมข้าวเพื่อกำจัดมอดในข้าวสาร จากการติดตามตรวจสอบ พบว่ามีแก๊สฟอสฟีนค้างอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย โดยกรมวิทย์ฯ จะ บูรณาการงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน รวมถึงการเตรียมบริการตรวจสารปนเปื้อนหรือสารพิษในสภาพแวดล้อมด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจและได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

3.ส่งเสริมและพัฒนาสติปัญญา (IQ)เด็กไทย โดยจะทำการศึกษาเรื่องไอโอดีนในปัสสาวะของประชากรใน 3 กลุ่ม คือ หญิงฝากครรภ์ เด็กปฐมวัย และผู้สูงอายุ ที่ปกติค่าเฉลี่ยไอโอดีนในคนทั่วไปจะมีค่าไม่ต่ำกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรต่ำกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การประเมินระดับไอโอดีนของประชาชนถือเป็นการตรวจสอบเฝ้าระวังและสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์สุขภาพและปัญหาในเรื่องของการขาดสารไอโอดีนของประชากรไทย งานนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบาย "สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่" ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ได้มีมาตรการพัฒนาสติปัญญาของแต่ละบุคคลอย่างเหมาะสมต่อไป โดยกรมวิทย์ฯ จะเสนอการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายของประเทศ

4.การจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ "ยาชื่อสามัญ (generic) คุณภาพ" กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการประกันคุณภาพยา โดยการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาจากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยาตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในตำรายาสากล เช่น ปริมาณตัวยาสำคัญ การละลายของตัวยา ปริมาณความชื้น เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2545 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพยาสามัญจำนวน 451 รายการ จำนวนผลิตภัณฑ์ยาทั้งสิ้น 12,027 ตัวอย่าง จาก 3,755 ทะเบียนตำรับยา เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 235 รายการ พร้อมจัดทำหนังสือ GREEN BOOK หรือ "รายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต" เพื่อให้โรงพยาบาลได้นำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางในการจัดซื้อยาเข้าโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้มีการเผยแพร่แล้วจำนวน 8 เล่ม และในปีงบประมาณ 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาสามัญที่กรมบัญชีกลางประกาศควบคุมค่าใช้จ่ายจำนวน 10 รายการ ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงจะทำฐานข้อมูลออนไลน์ "ยาชื่อสามัญ (generic) คุณภาพ" ขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลในการเลือกใช้ยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพ เกิดความมั่นใจในการเลือกใช้ยาชื่อสามัญ

สุดท้าย น.พ.อภิชัย ได้ฝากถึงประชาชนในเรื่องของการดูแลสุขภาพ โดยบอกว่าเรื่องของสุขภาพจะเริ่มจากใครไม่ได้นอกจากเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน ดังนั้นเริ่มต้นปีใหม่ 2557 นี้ เราควรเริ่มดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการกินอย่างปลอดภัย กินให้ถูกสุขลักษณะ คือต้องกินอย่างผู้รู้ รู้ว่าผักและผลไม้ดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร กินให้ถูกวิธี กินอย่างไรถึงจะไม่ทำลายสุขภาพ และกินอย่างพอดี จึงจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

"ทั้งนี้ เพื่อป้องกันสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและเพื่อผลดีต่อสุขภาพ ควรกินผักแต่ละชนิดในปริมาณที่เหมาะสมและหลากหลายชนิด และหวังว่าทุกคนจะเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีตลอดปี 2557 และตลอดไปในทุกๆ ปี"

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 3 มกราคม 2557