คมชัดลึก - ในที่สุดโรงพยาบาล อบจ.สุราษฎร์ธานี ก็เปิดให้บริการชาวสุราษฎร์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งความเป็นมาโรงพยาบาลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสภา อบจ.สุราษฎร์ธานี มีมติผ่านโครงการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 48,000,000 บาท ไปจัดซื้ออาคารโรงพยาบาลบ้านดอนที่ปิดกิจการนานหลายปี เพื่อซ่อมให้เป็นศูนย์บริการสาธารณสุข บำบัดรักษาดูแลผู้ป่วยสูงอายุและขยายเป็นโรงพยาบาล อบจ.สุราษฎร์ธานี สมัยที่นายธานี เทือกสุบรรณ เป็นนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี โดยวัตถุประสงค์การจัดซื้อโรงพยาบาลบ้านดอนก็เพื่อทำเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข บำบัดรักษาดูแลผู้ป่วยสูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกทั้งลดความแออัดคนไข้โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีด้วย
เมื่อผ่านมติที่ประชุมสภา อบจ.แล้ว อบจ.จึงร่วมกับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีสำรวจออกแบบการปรับปรุงตัวอาคารในเวลาต่อมาและเห็นว่าลักษณะอาคารเหมาะที่จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐอีกแห่งหนึ่งเพื่อรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โดย อบจ.สุราษฎร์ธานี สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงตัวอาคารและอุปกรณ์การแพทย์บางส่วน และการบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องการรักษาและดูแลผู้ป่วยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จนโรงพยาบาลดังกล่าวกลายเป็น โรงพยาบาล อบจ.สุราษฎร์ธานีในที่สุด
หลังนายธานี เทือกสุบรรณ ถูก กกต.เพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง จนหลุดพ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี และถูกตัดสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้ง 4 ปี ต่อมานายมนตรี เพชรขุ้ม ได้รับการเลือกเป็นนายก อบจ.สุราษฎร์และอยู่ครบวาระ 4 ปี ก็ได้ดำเนินการต่อแม้อยู่คนขั้วการเมืองก็ตาม เมื่อเห็นโครงการเป็นประโยชน์กับประชาชนก็ไม่นิ่งเฉย โดยนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา อบจ.เป็นระยะและดำเนินการโครงการต่อเนื่องเป็นรูปธรรมเพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนชาวสุราษฎร์ จึงสานต่อตั้งแต่ปี 2550 จนเสร็จสมบูรณ์ปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2556 โดยใช้งบประมาณทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
เมื่อนายมนตรี เพชรขุ้ม หมดวาระลงและพ่ายการเลือกตั้งให้นายทนงศักดิ์ ทวีทอง ที่สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ หลังเข้ารับตำแหน่งนายก อบจ.สุราษฎร์ นายทนงศักดิ์ ก็เร่งประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เก็บรายละเอียดที่ตกค้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ จนโรงพยาบาล อบจ.สุราษฎร์เปิดให้บริการประชาชนได้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
"อารมณ์ ช่วยชู" อายุ 42 ปี ชาวบ้านรายหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี บอกว่า หลังจากโรงพยาบาล อบจ.สุราษฎร์ธานีเปิดให้บริการ เคยเข้าไปใช้บริการแล้วโดยไปตรวจโรคทั่วไป และมีความประทับใจอย่างมากเพราะไม่แออัด ไม่เหมือนกับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีที่แออัดมาก และที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่บริการดี ไม่หงุดหงิด ทำให้ได้รับความรู้สึกที่ดี ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะยังใหม่อยู่ก็ได้ คนใช้บริการไม่มาก อยากฝากให้เจ้าหน้าที่บริการเช่นนี้ตลอดไป
ขณะที่ "สุวิทย์ แซ่ฉั่ว" อายุ 56 ปี ชาวบ้านอีกรายที่เข้าไปใช้บริการเนื่องจากมีอาการครั่นตัวมีลักษณะคล้ายกับเป็นหวัด เล่าว่า ไม่ต้องรอเข้าคิวนานเหมือนโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ยิ้มแย้มแจ่มใส บริการเป็นกันเอง มีความรู้สึกดีๆ ไม่เครียดเหมือนไปโรงพยาบาลทั่วไป ที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐบาล ซึ่งไม่แน่ใจว่าเพิ่งเปิดให้บริการใหม่หรือเปล่า ทำให้ได้รับความรู้สึกดี ที่สำคัญโรงพยาบาลสะอาดสะอ้านมาก เครื่องไม้เครื่องมือยังใหม่ แต่ต้องรอดูต่อไปว่าจะบริการได้ดีไปนานขนาดไหน
ด้าน "ทนงศักดิ์ ทวีทอง" นายกอบจ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า การจัดให้มีโรงพยาบาลรักษาพยาบาล การป้องกันและการควบคุมโรคเป็นหน้าที่ของ อบจ.ตามพระราชบัญญัติ กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งนายธานี เทือกสุบรรณ อดีตนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการจัดซื้อโรงพยาบาลบ้านดอนและตั้งงบประมาณปรับปรุงเมื่อ พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์ให้พี่น้องประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระและลดความแออัดโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีที่มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการหนาแน่น
ประกอบกับได้นำเสนอนโยบายนี้แก่พี่น้องประชาชนในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี และแถลงนโยบายต่อสภา อบจ.สุราษฎร์ธานีว่า "ให้บริการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพโดยโรงพยาบาล อบจ.สุราษฎร์ธานี" เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ อบจ.สุราษฎร์ธานี จึงได้ร่วมกับคณะผู้บริหารและข้าราชการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีพร้อมใจกันดูแลพี่น้องประชาชนเพื่อให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีตามวัตถุประสงค์ของผู้ริเริ่มโครงการนี้
ขณะที่ นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผอ.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และบุคลากรของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ก็ขานรับเต็มที่และพร้อมจะให้บริการประชาชนให้ดีที่สุด โดยโรงพยาบาล อบจ.สุราษฎร์ธานีแห่งนี้ มีห้องประชาสัมพันธ์ 1 ห้อง ห้องเอกซเรย์ 1 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง ห้องพักพยาบาล 13 ห้อง และห้องพักคนไข้ 61 ห้อง ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยทั่วไปพร้อมให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องตรวจและกินยาต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หอบหืด โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเน้นส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา โรคต่างๆ พร้อมดูแลคนปกติไม่ให้ป่วย
ส่วนการให้บริการก็เปิดบริการตามเวลาราชการปกติ ชั้น 1 ตรวจรักษาโรคทั่วไป ทุกกลุ่มอายุ อุบัติเหตุฉุกเฉิน ฉีดยา ทำแผลคลินิกส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ฝากครรภ์ ตรวจหลังคลอด สุขภาพเด็กดี ทันตกรรมและบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ชั้น 2 เป็นหน่วยบริการ ไตเทียม ซึ่งตอนนี้ยังไม่เปิดบริการ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ชั้น 3 แพทย์แผนไทยยังอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน คาดว่าจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ ชั้น 4 คลินิกโรคเรื้อรัง คลินิกจิตเวชวัยรุ่น คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มมีผู้ป่วยทยอยมาใช้บริการบ้างแล้ว ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะสนองตอบต่อประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 2 มกราคม 2557
- 1332 views