เดลินิวส์ - เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.ได้ร่วมกับองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ (อปท.) จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลตั้งแต่ปี 2549 ได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯ ทั่วประเทศแล้วถึง 7,776 แห่ง ครอบคลุมดูแลสุขภาพประชากร 56.66 ล้านคน โดยกิจกรรมที่ดำเนินการมี อาทิ การจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มประชากรเป้าหมาย ทั้งเด็ก สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, สนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่และประชาชนในชุมชนดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรังสำคัญเช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยโรคไต หัวใจ มะเร็ง และเอดส์
นพ.วินัย กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนฯไม่เพียงแต่ทำให้มีการสมทบงบประมาณจากท้องถิ่นเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนเท่านั้นแต่ยังทำให้เกิดความตระหนักและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากคนในท้องถิ่นและชุมชนเองเห็นได้จากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพเรียกว่าให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพคนในพื้นที่กันเองภายใต้การสนับสนุนจาก อปท. สปสช. และสถานีอนามัย ตลอดจนหน่วยราชการในพื้นที่ นอกจากนี้ยังทำให้ความคิดริเริ่มและนวัตกรรมใหม่ในการดูแลผู้ป่วยขึ้นจากโครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอเข้ามาจากท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งในปี 2557 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนฯ 40 บาทต่อประชากร และจะเพิ่มเติมอีก 5 บาทต่อประชากร โดยกำหนดให้มีโครงการดูแลกลุ่มประชากรวัยเด็กและผู้สูงอายุรวมทั้งมีผลการดำเนินงานกองทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไขไม่ว่าจะเป็นจัดทำแผนสุขภาพชุมชน การค้นหาผู้พิการ ผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาสในชุมชนเพื่อให้ได้รับการดูแลที่ทั่วถึงด้วย
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 2 views