นักวิจัยชี้ครอบครัวมีส่วนช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ พบ 7 ปี เลิกได้ 22% แต่กลับมาสูบอีกถึง 1 ใน 10 หนุน สสส.เชียร์คนสูบให้เลิกบุหรี่เพื่อคนในครอบครัวเป็นของขวัญปีใหม่

รศ.ดร.บุปผา ศิริรัศมี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยติดตามผลกระทบจากนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาของโครงการฯ ที่ติดตามผู้ใหญ่สูบบุหรี่ 2,000 คน มาเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2554 มีการสำรวจเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมสูบบุหรี่ถึง 5 รอบ ข้อมูลจนถึงรอบที่ 4 ปี พ.ศ. 2552 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนเป็นผู้เลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 22 แต่กลับมาสูบซ้ำถึงหนึ่งใน 10 นอกจากนี้ สองปัจจัยหลักที่ทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่คือคนในครอบครัวขอร้อง และการมีปัญหาสุขภาพ
       
รศ.ดร.อารี จำปากลาย นักวิจัยในโครงการฯ กล่าวว่า การณรงค์ด้วยการสื่อสารสาธารณะของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาถูกทางแล้ว ตัวอย่างเช่น การรณรงค์ “พ่อและแม่จะเสียใจ ถ้าลูกสูบบุหรี่” ซึ่งเผยแพร่ในช่วงปี พ.ศ. 2553 และ 2554 โดยจากการสอบถามผู้สูบบุหรี่ 1,740 คน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พ.ศ. 2554 ซึ่งมีสัดส่วนเพศชายถึงร้อยละ 90 พบว่า มีผู้เคยได้ยินหรือเห็น โฆษณารณรงค์นี้ ร้อยละ 61.3 และตอบว่าเกี่ยวข้องกับตนเองร้อยละ 88 โดยผู้ตอบว่าเกี่ยวข้องกับตนเองมากเป็นร้อยละ 46.4 ผู้ที่เคยได้ยินหรือเห็นเคยนำเรื่องราวในการรณรงค์ไปพูดคุยในกลุ่มเพื่อนมีถึงร้อยละ 71.4 และผู้ที่เคยได้ยินหรือเห็นตอบว่าผลของการรณรงค์ช่วยยับยั้งไม่ให้ผู้หญิงวัยรุ่นสูบบุหรี่ไม่มากก็น้อยมีถึงร้อยละ 79.4 ส่วนผู้ที่ตอบว่าการรณรงค์ไม่ได้ผล มีร้อยละ 20.6 นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สูบบุหรี่ไม่ถึงครึ่ง (ร้อยละ 44) เท่านั้นที่เห็นว่าการสูบบุหรี่ของผู้ชายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และมีเพียง 1 ใน 10 คน ที่เห็นว่าการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยผู้สูบบุหรี่ในกรุงเทพฯ เห็นว่า การสูบบุหรี่ของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้สูงสุด รองลงมาคือผู้สูบบุหรี่ที่อาศัยในเขตเมือง และเขตชนบทตามลำดับ คือ ร้อยละ 16.2 ร้อยละ 11.9 และ 8.9 ตามลำดับ
       
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2554 ย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ. 2547 พบว่า เพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 43.69 ในปี พ.ศ. 2547 และลดลงเหลือ 41.69 ในปี พ.ศ. 2554 แต่ก็ยังสูงกว่าเพศหญิงถึง 20 เท่า โดยเพศหญิงมีการสูบบุหรี่ลดลงจาก ร้อยละ 2.64 ในปี พ.ศ. 2547 เป็นร้อยละ 2.14 ในปี พ.ศ. 2554 และพบว่า การลดลงต่ำสุดที่ปี พ.ศ. 2550 และค่อยๆ ทรงตัว โดยวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่มากขึ้นในภาคกลางและภาคใต้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจค่านิยมของสังคมในโครงการวิจัยดังกล่าว ดังนั้น สสส.ควรลงทุนเพิ่มการรณรงค์ไม่ยอมรับการสูบบุหรี่ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เพราะไม่ว่าใครสูบบุหรี่ก็ทำให้คนในครอบครัวได้รับควันมือสองไปด้วย