ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ เตรียม 3 แนวทางหลัก แก้ไขปัญหาการคลอดในวัยรุ่นไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เร่งกระจายถุงยางอนามัย 80 ล้านชิ้นให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น การป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ และจัดทำบันทึกข้อตกลง 3 กระทรวง ป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ทั้งวัยรุ่นในระบบการศึกษาและนอกระบบ
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 56 นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก.มหาดไทย ก.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก.ศึกษาธิการ ก.วัฒนธรรม ก.แรงงาน ก.เทคโนโลยีสารสนเทศ กทม.ผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สมาคมวางแผนครอบครัวฯ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สมาคมส่งเสริมสุขภาพ สตรีฯ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทย มูลนิธินมแม่แห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกันสถิติในปี 2555 เป็นแม่วัยรุ่นอายุ 10-17 ปีคลอดทั้งหมด 63,475 คน คิดเป็นร้อยละ 7.9 ของจำนวนหญิงคลอดทั้งหมดจำนวน 801,737 คน
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา 3 เรื่อง ได้แก่ 1. เพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด โดยในปี 2557 นี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมถุงยางอนามัยสนับสนุนฟรีจำนวน 80 ล้านชิ้น และตั้งคณะอนุกรรมการ 1 ชุด เพื่อหารูปแบบวิธีการกระจายถุงยางอนามัยให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น 2. การป้องกันวัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำ โดยให้บริการการคุมกำเนิดกึ่งถาวร เช่นใส่ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด ณ คลินิกบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นและเยาวชน เน้นหนักในกลุ่มแม่วัยรุ่นที่มาคลอดในโรงพยาบาล เพื่อเว้นระยะการมีบุตรจนกว่าจะพร้อมมีบุตรคนต่อไป 3. มอบให้กรมอนามัยจัดทำร่างข้อตกลงร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดหลักสูตรเรื่องเพศศึกษาที่ทันสมัย ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ และการทำแท้งในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบให้กรมอนามัย ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศึกษามาตรการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และใช้อย่างรัดกุมที่สุดด้วย
ทั้งนี้ สถานการณ์วัยรุ่นตั้งครรภ์ พบว่าในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีการคลอดบุตรเพิ่มจาก 39.2 คนจากหญิงวัยเดียวกันพันคนในปี 2546 เป็น 53.8 คนในปี 2555 ส่งผลให้เด็กที่คลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เพิ่มสูงขึ้น โดยยิ่งแม่อายุน้อยลงเท่าใดลูกที่คลอดออกมายิ่งมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้น โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า เด็กที่คลอดจากแม่ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 18 แม่อายุ 15-19 ปี ร้อยละ 13.7 และแม่ทุกกลุ่มอายุร้อยละ 10 เนื่องจากสภาพร่างกายที่ยังไม่สมบูรณ์พอ ไม่ฝากครรภ์ หรือหลบซ่อนไม่ให้รู้ว่าท้อง ทำให้ขาดโอกาสได้รับการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย จะต้องเร่งหาทางป้องกันที่ได้ผลให้เร็วที่สุด
- 10 views