นายสมภพ แสงจันทร์ นักวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครพนม หนึ่งในทีมวิจัยโครงการ "หมู่บ้านต้นแบบลดและเลิกบุหรี่โดยชุมชนมีส่วนร่วม" ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการวิจัยเพื่อศึกษา หารูปแบบหมู่บ้านต้นแบบ ในการลด ละ และเลิกบุหรี่ โดยชุมชนมีส่วนร่วม หมายถึงหมู่บ้านที่มีการจัดการปัญหาที่เกิดจากการสูบบุหรี่โดยให้คนในชุมชนได้ค้นหาปัญหาสถานการณ์ของคนสูบบุหรี่ในชุมชน และผลกระทบที่เกิดจาการสูบบุหรี่ หาแนวทางวิธีการให้คนในชุมชนไม่สูบบุหรี่ และเลิกสูบบุหรี่โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่หมู่บ้านหนองย่างชิ้น ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร จ.นครพนม ซึ่งมีสมาชิกในหมู่บ้านร่วมเข้าโครงการลดละเลิกบุหรี่ในชุมชน 15 คน และครอบครัวผู้ที่สูบบุหรี่ จำนวน 15 ครัวเรือน

"จากการศึกษาสถานการณ์ผู้ติดบุหรี่และสภาพปัญหาการสูบบุหรี่ พบว่า บ้านหนองย่างชิ้น หมู่ 7 มีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 240 คน และมีคนสูบบุหรี่ 15 คน เป็นชายทั้งหมด 15 คน มีอายุระหว่าง 30-49 ปี ระยะเวลาที่สูบบุหรี่ 10-20 ปี ปริมาณที่สูบวันละ 1 ซอง ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้สูบบุหรี่ คือ เพื่อดับกลิ่นคาว หลังจากรับประทานอาหาร สูบเพื่ออยากลอง เห็นเพื่อนสูบ เพื่อคลายเครียด ทำให้สบายใจ มีแหล่งจำหน่ายบุหรี่ใกล้บ้าน มีร้านค้าที่สะดวก เป็นต้น ซึ่งได้มีกระบวนการหาวิธี ลด ละ เลิก ให้ความรู้ทั้งชุมชนไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน อสม. และทำให้ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมและสร้างนโยบายสาธารณะของชุมชน โดยจากกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่ามีผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 5 คน นอกจากนี้ ยังพบบุคคลต้นแบบที่มีวิธีการเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด ส่วนอีก 10 คน ถึงแม้จะยังเลิกสูบไม่ได้แต่ก็มีการลดปริมาณการ สูบลง" นายสมภพกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 ธันวาคม 2556