อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้โรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้ หากสุขภาพแข็งแรง แนะหมั่นตรวจสอบอาการผิดปกติทางร่างกายเสมอ พร้อมมุ่งพัฒนาทักษะทางด้านประสาทวิทยาแก่แพทย์ทั่วไปเพื่อรองรับผู้ป่วยทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 56 นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวหลังเปิดการประชุมโครงการเพิ่มพูนทักษะทางด้าน ประสาทวิทยาแก่แพทย์ทั่วไป ว่าโรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของชาติและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานการ ศึกษาร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญอันดับ 1 ในเพศหญิงและอันดับ 2 ในเพศชาย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสถาบันเฉพาะทางด้านโรคระบบประสาทของประเทศไทย ซึ่งมีภารกิจหลักในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้บริการรักษาพยาบาลเฉพาะทางโรคระบบประสาท ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จึงได้จัดให้มีการอบรมแพทย์ทั่วไป แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยระบบประสาทวิทยา แพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยา แพทย์เพิ่มพูนทักษะและแพทย์ที่จบการศึกษาจากสถาบันประสาทวิทยา จำนวน 150 คน เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านประสาทวิทยา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนสร้างเครือข่ายในการรับส่งต่อผู้ป่วยด้านประสาท วิทยา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดูแลรักษาผู้ป่วยประสาทวิทยา ครอบคลุมทั่วประเทศ
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย และผู้ป่วยที่รับประทานยาห้ามการแข็งตัวของเลือดหรือเป็นโรคที่มีความผิด ปกติของการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการร่วมกัน เช่น อ่อนแรงครึ่งซีก เดินเซ พูดลำบาก กลืนลำบาก ตามองไม่เห็น หรือมองเห็นภาพซ้อน สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกนั้น อาจมีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการซึม หมดสติและอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดภายใน 3-6 ชั่วโมง จะสามารถช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มาก ที่สุด สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือควบคุม ป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ปล่อยให้อ้วน จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และบุหรี่มือสองรวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ต้องรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้เข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วภายใต้ระบบ การบริการทางการแพทย์ที่ถูกต้องและเหมาะสม และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความเสี่ยงจากความพิการลงได้
- 5 views