กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์รับมือการชุมนุมวันนี้ตลอด 24 ชั่วโมง วานนี้ทีมแพทย์ฉุกเฉินทำงานใกล้ชิดระหว่างรัฐ-เอกชน –จิตอาสา ไม่มีผู้บาดเจ็บ พบผู้ชุมนุมป่วย เช่นวิงเวียน เป็นลม มีอาการชัก แน่นหน้าอก โดยส่งรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 15 ราย รับตัวไว้ในโรงพยาบาล 2 ราย ส่วนยอดผู้บาดเจ็บขณะนี้ยังคงนอนรักษาตัวจำนวน 15 ราย ไม่มีรายใดอาการหนัก
เช้าวันนี้(10 ธันวาคม 2556) ที่ โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี ทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ประเมินสถานการณ์และวางแผนดำเนินงานด้านการแพทย์รองรับการชุมนุม ในวันที่ 10 ธันวาคม 2556
นายแพทย์สุพรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังคงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหน้าที่โรงพยาบาลสงฆ์ แต่มีการประชุมวอร์รูมที่ รพ.เลิดสิน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว จากการติดตามสถานการณ์การบาดเจ็บรอบ 24 ชั่วโมงตั้งแต่ 08.00 น.วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ถึงเวลา 08.00 น. วันนี้ (10 ธันวาคม 2556) ไม่มีผู้บาดเจ็บจากเหตุรุนแรง มีเฉพาะการเจ็บป่วยทั่วๆไปของผู้ร่วมชุมนุม เช่นเป็นลม วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อย จำนวนหลายร้อยราย หน่วยแพทย์ได้นำส่งรักษา ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจำนวน 15 ราย ในจำนวนนี้ รับตัวไว้รักษา 1 ราย เนื่องจากมีอาการชักเกร็ง และรับไว้สังเกตอาการที่ห้องฉุกเฉิน 1 รายจากอาการแน่นหน้าอก การปฏิบัติงานตลอดวานนี้เป็นไปด้วยดี โดยมีบุคลากรทั้งจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และมีแพทย์พยาบาลจิตอาสาที่มาจากต่างจังหวัดที่ร่วมดูแลผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน หน่วยทหารเสนารักษ์ 59 นาย มีการประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิดทั้งการดูแลส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล การสนับสนุนเวชภัณฑ์ต่างๆ
สำหรับยอดจำนวนผู้บาดเจ็บสะสมจากเหตุการณ์ปะทะตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา ยังเท่าเดิมคือบาดเจ็บทั้งหมด 290 ราย รับตัวนอนรักษาในโรงพยาบาล 89 ราย ส่วนใหญ่กลับบ้านแล้ว ยังคงเหลือนอนรักษาในวันนี้ 15 รายในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 11 แห่ง ทุกรายอาการดีขึ้น ไม่มีรายใดอาการหนัก ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตมี 5 ราย เท่าเดิม
สำหรับการจัดบริการในวันนี้ ได้มีการปรับแผนเน้นการเฝ้าระวังการบาดเจ็บและการดูแลสุขภาพผู้ชุมนุมทั่วไป ตามแผนเอราวัณ 2 มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมกำลังบุคลากร เวชภัณฑ์ต่างๆ โดยให้โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์คือโรงพยาบาลเลิดสิน ราชวิถีและนพรัตนราชธานี เป็นหน่วยงานหลัก และมีโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลภาคีเครือข่าย เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกองพันทหารเสนารักษ์ กองทัพบก ส่งทีมแพทย์เข้ามาช่วยจำนวน 14 ทีม 59 คน เพื่อเดินไปให้การดูแลสุขภาพในที่ชุมนุมด้วย ร่วมกับมูลนิธิป่อเต็กตึ้งและมูลนิธิร่วมกตัญญูร่วมปฏิบัติงานด้วย
- 7 views