บ้านเมือง - น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันหลายปี จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของไทยในปี 2552 พบว่า มะเร็งที่พบมากในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ส่วนผู้หญิงที่พบมาก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งยังไม่ทราบแน่ชัด โดย 2 ใน 3 ของสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งมีส่วนสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมและสิ่งแวดล้อม และประมาณ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยสามารถป้องกันได้ ซึ่งวันที่ 10 ธ.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงได้รณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

น.พ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า แนวทางปฏิบัติป้องกันโรคมะเร็งที่ประชาชนสามารถทำได้ง่ายๆ คือ หลัก 5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง ดังนี้ 5 ทำ ได้แก่ 1.ออกกำลังกายเป็นนิจช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ โดยออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที 2.ทำจิตแจ่มใสช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค 3.กินผักผลไม้ ซึ่งนอกจากมีสารต้านมะเร็งแล้วยังมีเส้นใยอาหารช่วยลดการเกิดมะเร็งสำไส้ ควรกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ 4.กินอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารไขมันสูง ปิ้ง ย่าง ทอดที่ไหม้เกรียม หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง มีดินประสิว และ 5.ตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก

นพ.สุพรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับ 5 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่สูบบุหรี่ จะลดโอกาสเกิดมะเร็งปอดได้ร้อยละ 60-70 2.ไม่มีเซ็กซ์มั่ว โดยเฉพาะผู้หญิงหากมีเพศสัมพันธ์อายุน้อย และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคนจะยิ่งเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก 3.ไม่มัวเมาสุราจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งถึง 9 เท่า และหากสูบบุหรี่ร่วมด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเป็น 50 เท่า 4.ไม่ตากแดดจ้า ช่วยไม่ให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด และ 5.ไม่กินปลาน้ำจืดดิบโดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด เช่น ปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย เนื่องจากปลาเหล่านี้มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับอยู่ในเนื้อปลา หากกินสุกๆ ดิบๆ จะทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีในตับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 10 ธันวาคม 2556