“หมอเวชศาสตร์ฉุกเฉิน” เผยการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง ต้องยึดความปลอดภัยของผู้ป่วยและทีมงานเป็นหลัก เน้นการดูแลประชาชนทุกคนอย่าง “เท่าเทียม ทั่วถึง และปลอดภัย”
วันนี้ (8 ธันวาคม 2556) ที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ส่วนหน้า) กรณีชุมนุมการเมือง กระทรวงสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. นายแพทย์จิรพงษ์ ศุภเสาวภาคย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ทำหน้าที่ผู้ประสานงานควบคุมและสั่งการการปฏิบัติงานในพื้นที่ของชุดปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการปฏิบัติการรองรับสถานการณ์เหตุผู้ชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์เอราวัณ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิปอเต็กตึ้ง จัดทีมกู้ชีพเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ/ ผู้ป่วยฉุกเฉินในระหว่างการชุมนุม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐานของมูลนิธิ (BLS) และทีมกู้ชีพขั้นสูง (ALS) จากโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาค
นายแพทย์จิรพงษ์กล่าวว่า สำหรับการเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงของทีมกู้ชีพฉุกเฉินจำเป็นต้องพิจารณา ประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้รอบครอบ เพราะการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอาจเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานนั้น ทุกครั้งที่เกิดอันตรายจะทำให้ทีมที่เข้าไปไม่สามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ/ผู้ประสบภัยได้ ถือเป็นการเสียโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นประเด็นสำคัญที่ย้ำทุกทีมทางการแพทย์ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในส่วนต่างๆ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและทีมงานด้วย รวมทั้งพิจารณาช่องทางการนำผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ ส่งโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยทุกคน เน้นดูแลประชาชนทุกคน อย่าง “เท่าเทียม ทั่วถึง และปลอดภัย”
สำหรับในสถานการณ์การชุมนุมในครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมทีมกู้ชีพออกปฏิบัติการ 30 ทีม เป็นทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐาน 20 ทีม และขั้นสูงที่มีแพทย์ประจำในรถกู้ชีพ 10 ทีม และสำรองไว้อีก 5 ทีม โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่ผ่านการอบรมต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ทำงานทั้งในพื้นที่เกิดเหตุในฐานะผู้บัญชาการทางการแพทย์ภาคสนาม และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในรถกู้ชีพขั้นสูง สามารถประเมินอาการผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้รวดเร็ว ที่ต้องรีบรักษาเบื้องต้นอย่างถูกต้อง เหมาะสม ลดโอกาสบาดเจ็บ เสียชีวิต ก่อนที่จะนำส่งไปถึงมือแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาล
“ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ ที่เลือกใช้รถกู้ชีพและทีมแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการรอบๆ พื้นที่การชุมนุม มากกว่าการเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามที่ถาวรในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากการประเมินสถานสถานการณ์พบว่า มวลชนมีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายตลอดเวลา ประกอบกับโรงพยาบาลรอบพื้นที่มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งนี้ หากเกิดการเจ็บป่วยระหว่างชุมนุมหรือบาดเจ็บจากการปะทะกัน ทีมกู้ชีพสามารถประสานงานกับผู้นำมวลชนกู้ชีพมูลนิธิ นำผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บออกนอกพื้นที่ รักษาในสิ่งที่จำเป็น เน้นการช่วยชีวิต ลดระยะเวลาการอยู่ในพื้นที่ให้น้อยที่สุด ให้ผู้บาดเจ็บมีอาการคงที่ หรือดีขึ้น ไม่เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น นำส่งผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ” นายแพทย์จิรพงษ์กล่าว
- 3 views