Hfocus-คนยากคนจน ผู้สิ้นหวังจากเนื้อร้ายต่างได้รับรู้ถึงความจริงที่น่าเจ็บปวดที่ว่า “หากไม่มีเงิน ก็ยากที่จะหายจากโรคมะเร็ง” ราคายาต้านมะเร็งที่สูงโก่งได้กีดกันผู้ป่วยหลายคนจากการเข้าถึงการรักษา บางรายถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวจากการรักษา แต่เนื้อร้ายก็ยังไม่หายไป
ทุกครั้งที่สาธารณะมีการถกเถียงกันเรื่องราคาที่สูงมากของยาต้านมะเร็ง บริษัทด้านอุตสาหกรรมยามักมีคำตอบว่าการนำยาชนิดหนึ่งๆมาสู่ตลาดได้นั้นต้องใช้ต้นทุนสูงมาก และต้องมีค่าใช้จ่ายในการคิดค้นและพัฒนายาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป แต่นั่นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
ยาต้านมะเร็งเป็นธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยาที่เติบโตและขยายอย่างรวดเร็ว เช่นในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่าในปลายปีนี้ กว่า 1.7 ล้านคนจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง มากกว่า 580,000 คนจะเสียชีวิตจากเนื้อร้าย ในปี 2555 ตลาดการใช้ยารักษาเนื้องอกแก่ผู้เป็นมะเร็งในสหรัฐมีมูลค่าสูงกว่า 850,000 ล้านบาท และมูลค่าตลาดทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านบาทในปี 2559 ส่วนในประเทศไทย มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปีและผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น ล่าสุดปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 61,082 ราย โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการใช้ชีวิตแบบคนเมือง
กลุ่มผู้รักษาเนื้องอกในสหรัฐได้เขียนบันทึกที่น่าสนใจไว้ว่า ยาต้านมะเร็งเกือบทั้งหมด มีผลเพียงเล็กน้อยในการต่อชีวิตให้กับผู้ป่วย ยาต้านเพียงแต่ลดขนาดของเนื้องอก น้อยนักที่จะถอนรากถอนโคนโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในกลุ่มโรคมะเร็งที่พบได้ทั่วไป เช่น มะเร็งปอด หัวใจ ลำไส้ ต่อมลูกหมากและอื่นๆ แต่ยาต้านมะเร็งสามารถรักษามะเร็งที่มีความชุกของการเกิดต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มะเร็งลูกอันฑะ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและลูคีเมีย
ในบทสัมภาษณ์ของเว็บไซต์ของ New York Magazine ได้ระบุถึงบทความของ พญ.เดโบร่าห์ แช็รค นักวิทยาเนื้องอกประจำสถาบันมะเร็งดาร์น่า-แฟร์เบอร์ในเมืองบอสตัน กล่าวว่า “81% และ 69% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้และมะเร็งปอดในระยะแพร่เชื้อ ไม่เข้าใจว่ายาต้านที่ใช้ในการรักษาของพวกเขาไม่สามารถทำให้เขาหายจากโรคได้” แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ผลการรักษาของมะเร็งในบางจำพวกด้วยยาต้านไม่แปรผันตามการขึ้นราคาของยา
แต่กลับพบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ราคายาต้านมะเร็งเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า จากการประมาณการณ์ของนพ.ลีโอนาร์ด ซอลท์ซ ผู้นำกลุ่มนักมะเร็งลำไส้วิทยาประจำศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เค็ทเทอริ่ง ในปี 2537 ค่ายารักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ตลอดชีพเทียบเท่าได้กับ16,500 บาทเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน ผู้ป่วยในระยะการแพร่กระจายของโรคโดยทั่วไปสามารถมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 11 เดือน แต่ในปี 2547ผู้ป่วยในระยะเดียวกันสามารถอยู่ได้ 22 เดือน แต่ราคายาต้านมะเร็งตลอดชีพเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลายร้อยเท่า
ตัวอย่างเช่น ยาต้านการแพร่กระจายของมะเร็งในลำไส้ชื่อว่า “Avastin” ในสหรัฐ มีคุณสมบัติในการต่อชีวิตให้ผู้ป่วยในระยะเชื้อแพร่กระจายเพิ่มได้อีกประมาณ 42 วัน ค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยยาชนิดนี้อยู่ที่ประมาณ 165,000 บาทต่อเดือน และต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางอย.สหรัฐได้ให้การรับรองตัวยาต้านที่มีคุณสมบัติคล้าย Avastin มีชื่อการค้าว่า “Zaltrap” มีการคาดการณ์กันว่า ตัวยาใหม่ชนิดนี้จะเดินรอยตาม Avastin และมีราคาแพง
ธุรกิจยาต้านมะเร็งถูกแต่งแต้มด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งผู้ป่วยพร้อมที่จะลองอะไรก็ตามเพื่อการรักษา แม้กระทั่งเต็มใจยอมที่จะล้มละลายทางการเงิน เปิดช่องทางให้มือที่สามในธุรกิจยาตั้งราคายาต้านมะเร็งได้สูงโดยไม่มีเหตุผล เป็นผลให้ผู้ป่วยส่วนมากถูกกีดกันด้วยราคายาแพงสุดโต่งหรือล้มละลายเพราะค่ายารักษา ในบางรัฐ ผู้ป่วยที่สมัครประกันสุขภาพของรัฐอาจได้สิทธิการจ่ายร่วม ผู้ป่วยในรัฐอื่นๆอาจต้องจ่ายราคายาเองทั้งหมด
นพ.ปีเตอร์ บี แบช ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและผลลัพธ์เชิงสุขภาพประจำศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เค็ทเทอริ่ง ได้ตีพิมพ์บทความในNew England Journal of Medicine ไว้ว่ารากฐานของธุรกิจยาคือระบบสิทธิบัตร ซึ่งมอบการผูกขาดยาตัวใหม่แก่บริษัทยา และที่สำคัญ อนุญาตให้บริษัทยากำหนดราคาสินค้าในช่วงระยะการผูกขาด ระบบนี้กีดกั้นการต่อรองราคายาในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล การศึกษาของนพ.แบชค้นพบอีกว่า แม้ยาต้านมะเร็งมีราคาบ่งบอกไว้ แต่บริษัทยาสามารถตกลงราคาใหม่กับบริษัทประกันสุขภาพ โรงพยาบาลหรือพ่อค้าคนกลางได้ ในส่วนของแนวโน้มราคายาต้านมะเร็งนั้น พบว่าเพิ่งมีการเพิ่มราคาขึ้นจนเกินราคาเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
”สภาพแวดล้อมทั้งหมดทำให้เกิดโครงสร้างที่ทำให้ราคายาไม่มีแรงกดดันจากบนลงล่าง และไม่มีมาตรฐาน” นพ.แบช กล่าวกับ New York Magazine นอกจากนั้น โครงการประกันสุขภาพและบริษัทขายประกันสุขภาพเกือบทั้งหมดที่ต้องการขยายธุรกิจไปสู่ทุกรัฐจำต้องให้สิทธิครอบคลุมยาทุกตัว มักต้องมีการพูดคุยตกลงกันเบื้องหลังกับบริษัทยา และบริษัทยามีหน้าที่ทำกำไรเพื่อเพิ่มหุ้นของตน
ในส่วนของประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากสหรัฐมากนัก
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ราคายาต้านมะเร็งในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่าบริษัทยามีกระบวนการดิสเครดิสยาตัวเก่า เพื่อเอายาตัวใหม่ที่มีราคาแพงมากขึ้นเข้ามาสู่ตลาด และยังพบว่าราคายาไม่มีมาตรฐาน ขึ้นลงตามบริษัทยา เช่น บริษัทยาอาจบริจาคยาล็อตหนึ่งให้กับสปสช. แล้วให้สปสช.ซื้อยาเองในราคาหนึ่ง แต่ยาตัวเดียวกันกลับขายให้กรมบัญชีกลางในราคาที่สูงกว่า เป็นต้น
*เนื้อหาบางส่วนเรียบเรียงจาก New York Time Magazine : The Cost of Living. New drugs could extend cancer patients’ lives—by days. At a cost of thousands and thousands of dollars. Prompting some doctors to refuse to use them. http://nymag.com/news/
*ติดตามกรณีศึกษาของประเทศไทย ต่อตอนที่ 2
- 139 views