แนวหน้า - ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กทม.ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข(ส่วนหน้า)กรณีชุมนุมการเมือง กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และคณะ ประชุมทีมแพทย์ฉุกเฉินในสังกัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตน์ราชธานี รพ.เลิดสิน และรพ.สงฆ์ และทีมกู้ชีพจากมูลนิธิฯ ประเมินสถานการณ์จากการชุมนุมการเมืองและการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการหารือการเตรียมการรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หากมีระดับความรุนแรงมากขึ้นจะมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร เพื่อกำหนดแผนการปฏิบัติการร่วมกัน สำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด การแชร์ทรัพยากรกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงจะมีการเตรียมการณ์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และคาดว่าจะมีมวลชนเข้ามาชุมนุมมากขึ้นในช่วงวันหยุดราชการ
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานดูแลด้านการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างสถานการณ์การชุมนุมตามแผนเอราวัณของสำนักการแพทย์ กทม. จะแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน มอบหมายให้หน่วยงานที่อยู่ในแต่ละโซนรับผิดชอบในการจัดบริการ โซนที่ 1 สนามม้านางเลิ้ง กระทรวงการคลัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขดูแล โซนที่ 2 ทำเนียบรัฐบาล ดูแลโดยวชิระพยาบาล โซนที่ 3 เสาชิงช้า ศาลาว่าการฯ กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล และโซนที่ 4 ถนนหลานหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์ดูแล แต่ละโซนจะมีผู้สั่งการ ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายในโซน
“ขณะนี้ เราอยู่ในการปฏิบัติงานตามแผนเอราวัณ 2 เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่าง กทม. กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และมูลนิธิต่างๆ โดยทีมแพทย์ฉุกเฉินทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูงจะออกปฏิบัติการภายในพื้นที่รับผิดชอบแต่ละโซน หากวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกันแล้วว่าเหตุการณ์รุนแรงขึ้น จะขยับเป็นแผนเอราวัณ 3 ศูนย์เอราวัณ กทม. จะเป็นผู้ประกาศใช้ โดยทีมแพทย์ฉุกเฉินทั้ง 4 โซนจะเคลื่อนเข้าช่วยกัน รวมทั้งจะระดมทีมจากต่างจังหวัดมาช่วย” นายแพทย์สุพรรณกล่าว
ด้านนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนหน้าฯ กล่าวว่า ในการปฏิบัติงานตามแผนเอราวัณ เน้นการที่จะนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ จากการชุมนุมและการปะทะกัน ส่งโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อความปลอดภัย ส่วนกรณีเจ็บป่วยทั่วไป การดูแลสุขภาพของผู้ชุมนุม จะดำเนินการโดยผู้แลมวลชนผู้ชุมนุม และทีมแพทย์ สหวิชาชีพจากหน่วยงานต่างๆอาสาเข้ามาช่วยดูแล โดยกทม.และกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปประสานงานอย่างใกล้ชิดในการให้ข้อคิดเห็นเชิงบริหารจัดการ รวมทั้งสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้แก่ทีมแพทย์ที่ดูแลในกลุ่มมวลชนอย่างต่อเนื่อง
“ขอยืนยัน ทีมแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมดูแลประชาชนในไทยทุกคน อย่างเสมอภาค ทัดเทียมกัน”นายแพทย์ณรงค์ กล่าว
ที่มา: http://www.naewna.com
- 21 views