โรงพยาบาลเด็ก เผยผลศึกษาพบ 91.5% ของเด็กอายุ 2-5 ปีที่ป่วยเป็นไข้หวัด – เจ็บคอ หายได้โดยไม่ต้องพึ่งยาปฏิชีวนะ หากได้รับการดูแลรักษาตามอาการอย่างถูกวิธี
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาในปี 2556 จากการติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไข้หวัด – เจ็บคอ พบว่า 91.5% ของผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษามีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โดยไม่ต้องจ่ายยาปฏิชีวนะให้ ซึ่งอัตราการหายไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษา จากการศึกษายังพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจ และ 98.5% ต้องการจะกลับมารับบริการอีกในครั้งต่อไป
รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) แนะนำว่าผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไข้หวัด – เจ็บคอ ซึ่งมักพบบ่อยในเด็กอายุ 2 – 5 ปี ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งสามารถหายเองได้ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กรับประทานยามากเกินไป โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาอาการไข้หวัด – เจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ และยังเป็นอันตรายอาจทำให้เด็กแพ้ยาเพิ่มความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่สำคัญคืออาจเหนี่ยวนำให้เด็กเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
หากแม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการตั้งครรภ์ 9 เดือนจำนวนมาก จะส่งผลให้ทารกได้รับยาตัวนั้นด้วย และในกรณีที่แม่คลอดบุตรแล้วแพทย์สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้มารดาอาจทำให้ทารกได้รับยาดังกล่าวผ่านทางนมแม่ด้วย จึงไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น
สำหรับอาการหวัด – เจ็บคอ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบดูเองได้ง่ายๆ โดยให้เด็กอ้าปาก ใช้ไฟฉายแสงขาวส่องดูในคอ หากไม่มีตุ่มหนองที่ต่อมทอนซิล และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้กดใต้ขาไกรกรรแล้วเด็กไม่เจ็บ แสดงว่าเกิดจากเชื้อไวรัสไม่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ แค่ให้เด็กดื่มน้ำอุ่นมากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายให้เหงื่อออกบ้างเล็กน้อย และดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หากตัวร้อนเป็นไข้ให้เช็ดตัวหรือรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ สำหรับเด็กเล็กที่มีน้ำมูกมากและสั่งน้ำมูกไม่เป็น อาจใช้อุปกรณ์ช่วยดูดน้ำมูกออกเพื่อให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าในปี 2552 มูลค่าการผลิตและนำเข้าของกลุ่มยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะ มีมูลค่าประมาณ 22,900 ล้านบาท โดยยาปฏิชีวนะคิดเป็น 10,940 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่นการซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ทำให้เกิดวิกฤติปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งทวีความรุนรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมปัญหาการดื้อยาจึงควรปฏิบัติใน 3 มาตรการ คือ 1) ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น 2) ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง และ 3) ใช้อย่างสมเหตุสมผลไม่ใช้ยาปฏิชีวนะแรงเกินไป
- 13479 views