"คลินิกชุมชนสีลม" ย้ายบ้านใหม่ไปชั้น 12 รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดลให้บริการปรึกษา ตรวจเลือด และรักษาการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มชายรักชาย ฟรี ไม่เปิดเผยชื่อจริงพร้อมเดินหน้าวิจัยอีก 3 โครงการ
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวภายหลังเปิดคลินิกชุมชนสีลม@ทรอปเมดร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯและ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนารูปแบบคลินิกสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้บริการปรึกษา ตรวจเลือด และรักษา โดยไม่คิดค่าบริการและไม่เปิดเผยชื่อจริง ว่า กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์ความร่วมมือไทยสหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (ทียูซี)ได้สำรวจความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในกรุงเทพฯ พบอัตราการติดเชื้อสูงร้อยละ 17 ในปี 2546 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31 ในปี 2553 และในช่วงเวลาเดียวกันพบความชุกของการติดเชื้อซิฟิลิสสูงขึ้นจากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 12.5 ส่วนการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่สูงขึ้นจาก 2.8 คนต่อประชากร 100 คนต่อปี เป็น 7.9 คนต่อประชากร100 คนต่อปี
การเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อดังกล่าว เป็นผลจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันทางทวารหนักซึ่งเป็นช่องทางหลักของการถ่ายทอดเชื้อในกลุ่มนี้ ทียูซีจึงได้จัดตั้ง "คลินิกชุมชนสีลม" ขึ้น ณ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ถนนสีลม ต่อมาก.ย. 2554 คลินิกชุมชนสีลมได้เริ่มดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างทียูซี และ คร. ใน มิ.ย. 2556 รพ.กรุงเทพคริสเตียนจะทำการรื้อถอนอาคารที่คลินิกตั้งอยู่เพื่อสร้างอาคารใหม่ทดแทน คร.และทียูซีจึงได้เห็นชอบขอใช้สถานที่ม.มหิดล คือ อาคารราชนครินทร์ชั้น 12 โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ดำเนินการคลินิกชุมชนสีลม โดยใช้ชื่อ"คลินิกชุมชนสีลม@ทรอปเมด"โดยเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 4 ธ.ค.นี้ โดยเปิดให้บริการวันอังคารเสาร์ ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น.ฟรีและไม่เปิดเผยชื่อจริง
อธิบดี คร. กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังมีโครงการวิจัยด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่คลินิกแห่งนี้ 3 โครงการ คือ 1.โครงการศึกษาวิจัยแบบติดตามด้านการติดเชื้อเอชไอวีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการปฏิบัติการด้านการป้องกันโรคต่างๆ ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 2.โครงการวิจัยการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยารักษาก่อนการสัมผัสเชื้อ สำหรับผู้ที่กินยาเป็นระยะๆ ในแง่มุมเกี่ยวกับพฤติกรรม และ 3.โครงการวิจัยทางคลินิก ระยะที่ 2 แบบสุ่มเลือกลำดับ เปิดกลุ่มทดลอง เพื่อวิจัยเพิ่มเติม เรื่องความปลอดภัยและการยอมรับยาเอ็มทริซิทาบีน/ทีโนโฟเวียร์ชนิดเม็ดสำหรับกินและยาทีโนโฟเวียร์ 1% ชนิดเจลสูตรลดปริมาณกลีเซอรีนสำหรับสอดทวารหนัก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 ธันวาคม 2556
- 143 views