บ้านเมือง - น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนไทย จากการสำรวจความเครียดของประชาชนในพื้นที่ชุมนุมและนอกพื้นที่ชุมนุมทั่วไปโดยกรมสุขภาพจิต ช่วงวันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบประชาชนไทยถึง 2 ใน 3 ประสบภาวะตึงเครียด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชุมนุมจะมีระดับความเครียดสูงกว่าประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมถึงร้อยละ 17 ซึ่งน่าเป็นห่วงและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การเมืองร่วมกับสิ่งแวดล้อม และสื่อรอบตัวที่มีความเข้มข้นทางอารมณ์สูงตลอดเวลา ความเครียดมีผลกระทบดังนี้ ได้แก่ 1.ร่างกายเปลี่ยนแปลง ได้แก่ นอนไม่หลับ เมื่อยล้า ปวดตึงศีรษะ เหนื่อยง่าย ความเครียดระดับสูงมากยังส่งผลเสียต่อโรคเรื้อรังอีกด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง 2.ผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ว้าวุ่นใจ หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ฟุ้งซ่าน อารมณ์ขึ้นลงไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จนเกิดภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าเรื้อรัง และถ้ายิ่งเครียดมากเครียดนานอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ 3.ผลกระทบต่อสัมพันธภาพและสังคม ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลจนมีโอกาสควบคุมไม่อยู่ จัดการปัญหาสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนที่เห็นต่างไม่ดี จนนำมาสู่การสูญเสียเพื่อนและสัมพันธภาพ อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ ผู้ให้ความช่วยเหลือ มูลนิธิ หรือจิตอาสาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดเหตุ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ง่ายต่อการเกิดความเครียดคุกคาม จากสภาพที่ไม่ปลอดภัย การไม่ได้กินนอนตามปกติ การทำงานเร่งด่วนภายใต้แรงกดดัน งานไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง เกิดความกลัว ความผิดหวัง ความโกรธ ความสิ้นหวัง เห็นใจผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งภาวะเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ความเครียดที่เรื้อรังได้ และยิ่งสถานการณ์รุนแรงเท่าไหร่ ก็มักจะเกิดความเครียดมากขึ้นเท่านั้น สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยลดภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ชุมนุมและผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ให้ความช่วยเหลือ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำให้พยายามดำเนินรูปแบบการใช้ชีวิตหลักๆ ได้แก่ กิน อยู่ หลับ นอน ให้ใกล้เคียงปกติเท่าที่จะทำได้ เช่น พยายามหาเวลานอนและกินให้ได้ตรงและตามเวลา รวมทั้งหาวิธีผ่อนคลายตัวเอง อาทิ ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย ทำกิจกรรมบันเทิงร่วมกัน หรือพูดคุยเรื่องอื่นๆ กันบ้าง หรือหลบไปอยู่ในที่ที่เสียงไม่ดังมากๆ เพื่อรักษาสมดุลชีวิต
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 4 ธันวาคม 2556
- 2 views