กระทรวงสาธารณสุข ตั้งช็อครูมหรือศูนย์ปฏิบัติการติดตามและกำหนดยุทธศาสตร์ตอบโต้วิกฤติฉุกเฉินทางสุขภาพจากโรคระบาดและภัยพิบัติจากธรรมชาติในส่วนกลาง นับเป็นครั้งแรกของไทย โดยใช้เทคโนโลยีใหม่จากองค์การอนามัยโลกประมวลข้อมูล ในช่วงแรกจะทดลองเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานส่วนกลางกับ 4 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และชลบุรี ในเดือนธันวาคม 2556 ก่อนขยายผลทุกพื้นที่ในปีหน้า
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการก้าวผ่านวิกฤติ เพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนไทยได้อย่างทันท่วงที และลดผลกระทบต่อนานาชาติด้วย โดยในปี 2556 นี้ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขและกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไข ป้องกันควบคุมสถานการณ์หรือเรียกว่า ช็อครูม (SHOC : Strategic Health Operation Center Room) เพื่อให้เป็นศูนย์สั่งการแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉิน(Emergency Operation Room)สามารถปฏิบัติการในพื้นที่ได้อย่างทันเหตุการณ์และเหมาะสมเชื่อมโยงกับองค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ที่สวิสเซอร์แลนด์และองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคต่างๆ ในการรายงานข้อมูลและผลการดำเนินการนับว่าไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่ได้เป็นประเทศที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกแต่มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวในประเทศ
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การพัฒนาช็อครูมครั้งนี้ นับเป็นการยกระดับศักยภาพการแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยในภาวะฉุกเฉินทั้งจากโรคระบาดและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนไทยและนานาชาติด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลก ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนับสนุนซอร์ฟแวร์ในการประมวลข้อมูลได้มอบให้นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นแกนหลักในการประสานความร่วมมือ
ทางด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือช็อครูมที่ห้องประชุม 5 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยระบบจะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่กระจายตามหน่วยงานต่างๆ มาประมวลผล รวมทั้งข้อมูลทางภูมิศาสตร์เชื่อมโยงกับระบบแผนที่จริงทางดาวเทียม หรือ กูเกิล เอิร์ท (Google Earth) จอทีวี เพื่อติดตามสถานการณ์หรือข้อมูลต่างๆ ที่ส่งจากพื้นที่จริงหรือเป็นข้อมูลรายงานจากสื่อมวลชน ทำให้ผู้บริหารสามารถนำมาใช้ตัดสินใจสั่งการแก้ไขในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยจะอบรมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ในเบื้องต้นจะใช้ประมาณ 3-5 คน จากสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และจากกรมควบคุมโรค ในการเริ่มดำเนินการระยะแรก จะติดตั้งระบบดังกล่าวที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 4 จังหวัด เพื่อทดสอบและปรับปรุงระบบให้เสถียร ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และขอนแก่น คาดว่าจะเริ่มในกลางเดือนธันวาคม 2556 และจะขยายใน 73 จังหวัดที่เหลือทั่วประเทศในปี 2557 ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 6 ล้านบาท
นายแพทย์ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อระบบเกิดความเสถียรทั้ง 77 จังหวัด ขั้นต่อไปกระทรวงสาธารณสุขจะเชื่อมต่อระบบนี้ให้เป็นศูนย์ข่าวสารทางสุขภาพทั้งระบบของกระทรวงฯ ทั้งด้านการส่งต่อผู้ป่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ข้อมูลของโรงพยาบาล ข้อมูลการเงิน และข้อมูลสารสนเทศทางภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป
- 1 view