การประท้วงของกลุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน นำโดยประธานชมรมแพทย์ชนบท นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ ราว 300 คน ออกมาแสดงพลังหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สะท้อนข้อเรียกร้องอย่างมีนัยยะ
เนื่องจากแตกต่างจากทุกครั้ง เพราะครั้งนี้ชมรมแพทย์ชนบทแสดงจุดยืนว่า ไม่ขอเรียกร้องการออกระเบียบค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับชมรมแพทย์ชนบท หรือฉบับ 10 อีก เนื่องจากหมดความเชื่อมั่นในผู้บริหารกระทรวง ทั้ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. โดยเฉพาะ นพ.ประดิษฐ หรือแม้แต่รัฐบาลที่เป็นกาวใจในการประสานเจรจามาโดยตลอด สุดท้ายก็ไม่สามารถขับเคลื่อนร่างระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่เรียกร้องได้ ทั้งๆ ที่กลุ่มหมอชนบทมองว่า ระเบียบฉบับใหม่ที่มีการปรับปรุงจากฉบับเดิมคือ 4 และ 6 ยังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่จูงใจแพทย์ให้ทำงานในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากประกาศฉบับใหม่ได้ปรับลดอัตราเงินค่าตอบแทนของกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ไปเกือบครึ่ง แม้จะมีการจ่ายเงินเพิ่มเติมด้วยการคิดตามผลปฏิบัติงาน ทำงานมากได้มาก แต่ก็ไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชนอยู่ดี
เรื่องนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ยืนยันว่า จะไม่เรียกร้องร่างประกาศการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอีก เพราะ นพ.ประดิษฐ คือ โมฆบุรุษ พวกตนจะไม่ขอร่วมประชุมใดๆ กับทางกระทรวงอีก จุดยืนนับจากนี้คือ ขอให้รัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากรัฐมนตรีว่าการ สธ. เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมในการทำงาน ไม่เพียงแต่เรื่องค่าตอบแทน แต่ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงอำนาจการทำงานของหน่วยงาน หรือการทำให้องค์การเภสัชกรรม หมดความน่าเชื่อถือ เพราะไปชงเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จัดการเรื่องการดำเนินการโรงงานวัคซีน หรือแม้แต่กรณีข่าวการปนเปื้อนยาพาราเซตามอล ทั้งหมดล้วนไม่ชอบธรรม
ดังนั้น แม้ สธ.จะมีการประชุมพิจารณาร่างระเบียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายใหม่ก็ไม่เป็นผลใดๆ เพราะชมรมแพทย์ชนบทยืนกรานไล่รัฐมนตรีว่าการ สธ. และปลัด สธ.เท่านั้น และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ในอีก 7 วันข้างหน้าจะมาบ้านนายกฯ พร้อมทั้งตั้งโรงพยาบาลสนาม มีผู้ป่วยโรคไตมาร่วมแสดงพลัง
สถานการณ์ดังกล่าวมีแววว่าร่างระเบียบค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่คงต้องล่าช้าออกไปอีก ทั้งๆ ที่เป็นร่างระเบียบค่าตอบแทนที่ผ่านความเห็นชอบจากหลากหลายวิชาชีพด้านสาธารณสุข แม้แพทย์โรงพยาบาลชุมชนจะไม่เข้าร่วม แต่ก็ถือว่าเป็นการลงมติจากเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งได้ข้อสรุปออกเป็นระเบียบค่าตอบแทน 2 ฉบับ คือ 1.ร่างระเบียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 8.1 ซึ่งปรับปรุงมาจากฉบับ 8 เพื่อแทนระเบียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับเดิมที่หลายวิชาชีพมองว่ายังมีช่องว่างในการจ่ายอยู่มาก และ 2.ร่างระเบียบค่าตอบแทนฉบับ 9 ซึ่งเป็นระเบียบที่พิจารณาตามผลปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี (Pay for Performance : P4P) รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนตามคุณภาพงาน หรือพีคิวโอ (Pay for Quality and Outcome : PQO) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนกรณีฉบับ 8.1 บางกลุ่มอาจถูกลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่หากทำงานมากก็จะได้รับเงินในส่วนของพีฟอร์พีเพิ่มเข้าไป สุดท้ายจำนวนเงินไม่ได้หายไปไหน แต่เปลี่ยนวิธีจ่ายเท่านั้น
ตามขั้นตอนเมื่อได้มติดังกล่าวจะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน เพื่อพิจารณาชี้ขาดก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่จากข้อคัดค้านของชมรมแพทย์ชนบท ทำให้ "นพ.ประดิษฐ" ออกมาประกาศชัดว่า แม้สหวิชาชีพด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการออกระเบียบค่าตอบแทนฉบับ 8.1 แต่เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ จะมีการหยิบยกข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบทเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯที่ตนเป็นประธานเพื่อพิจารณา ในวันที่ 29 พฤศจิกายน แต่ขอให้ชมรมแพทย์ชนบทเข้าร่วมประชุมด้วย
สุดท้ายชมรมแพทย์ชนบทก็ไม่เข้าร่วมประชุม จนต้องมีคำสั่งเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 11 ธันวาคม 2556 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนคงสงสัยว่า ร่างระเบียบค่าตอบแทนดังกล่าวมีความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ และข้อแตกต่างระหว่างฉบับ 8.1 และฉบับ 10 เป็นเช่นใด
ยกตัวอย่าง อัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลชุมชน ในส่วนของแพทย์/ทันตแพทย์ กรณีฉบับ 10 ซึ่งอิงฉบับเดิม คือ ฉบับ 4 แยกพื้นที่หลักๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม แบ่งเป็น 1.กลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1 มีความทุรกันดารมาก รองลงมาเป็นกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.2 และระดับ 2.3 ซึ่งเป็นชุมชนเมือง โดยในกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1 กรณีแพทย์/ทันตแพทย์ มีระยะเวลาทำงานปีที่ 1-3 จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแตกต่างกัน ดังนี้ พื้นที่ปกติได้รับเงิน 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 20,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้รับ 30,000 บาท ส่วนกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.2 นั้น จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเท่ากับกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1 ขณะที่พื้นที่ระดับ 2.3 จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 10,000 บาท
กรณีแพทย์/ทันตแพทย์ ทำงานปีที่ 4-10 ในกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1 แบ่งเป็นพื้นที่ปกติได้รับเงิน 30,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 40,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้รับ 50,000 บาท ส่วนกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.2 ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายลดลง 5,000 บาทในแต่ละพื้นที่ของกลุ่มระดับ 2.1 ส่วนระดับ 2.3 ได้รับ 20,000 บาท เป็นต้น ส่วนฉบับใหม่ จะถูกปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะอายุงานเท่าใดก็ตาม แต่จะไปเพิ่มเงินในส่วนของการทำงานตามผลปฏิบัติงานแทน หรือพีฟอร์พีแทน แต่สำหรับแพทย์/ทันตแพทย์ ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีการปรับลด
ส่วนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของเภสัชกรฉบับ 8.1 จะแบ่งเป็นเภสัชกรประจำพื้นที่ชุมชนเมือง หากทำงานตั้งแต่ปีที่ 1-3 ได้รับ 2,500 บาท พื้นที่ปกติได้รับ 3,500 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 1 ได้รับค่าตอบแทน 8,000 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 2 (ทุรกันดารมาก) 13,000 บาท ขณะที่ฉบับ 10 แบ่งออกเป็นพื้นที่ปกติ/ชุมชนเมือง หากทำงานปีที่ 1-3 ได้รับ 3,000 บาท พื้นที่เฉพาะหรือทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 8,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้รับ 13,000 บาท
ขณะที่พยาบาล ฉบับ 8.1 หากทำงานปีที่ 1-3 พื้นที่ชุมชนเมืองได้รับ 1,200 บาท พื้นที่ปกติได้รับ 1,200 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 1 ได้รับ 2,000 บาท พื้นที่เฉพาะระดับ 2 ได้รับ 3,500 บาท ส่วนฉบับ 10 กรณีทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ปกติ/ชุมชนเมืองได้รับ 1,200 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 1,500 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้รับ 3,000 บาท เป็นต้น
งานนี้ไม่ง่ายนัก
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556
- 30 views