Hfocus -ปรากฏการณ์บุคลากรโรงพยาบาลชุมชน นำโดยชมรมแพทย์ชนบท ที่มีทั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมฯ และนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรรมการชมรมฯ ประท้วงหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องรัฐบาลนั้น แตกต่างจากการเรียกร้องเดิมๆ เนื่องจากครั้งนี้มุ่งไล่ “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ”นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เรียกร้องประเด็นค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม
เกิดคำถามว่า เพราะเหตุใดชมรมแพทย์ชนบทยุคนี้จึงเปลี่ยนกระบวนยุทธ์การเคลื่อนไหว ไล่ประดิษฐ-ณรงค์ โดยประกาศว่าจะไม่เคลื่อนไหวคัดค้านพีฟอร์พีอีกต่อไป หรือนั่นเป็นเพราะ ความเคลื่อนไหวล่าสุด ของการประชุมคณะทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสหวิชาชีพต่างๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ได้มีการพิจารณาและได้ข้อสรุปเดินหน้าใช้ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ฉบับ 8.1 ยกเว้นแพทย์ทันตแพทย์ใช้ฉบับ 8 ซึ่งทั้งหมดล้วนปรับปรุงมาจากฉบับเดิมคือ 4 และ 6 แม้ช่วงที่ผ่านมาชมรมแพทย์ชนบทจะไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องมาตลอด โดยอ้างถึง มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ให้ปรับระเบียบดังกล่าวโดยอิงประกาศค่าตอบแทนฉบับ 4 และ 6 แต่สุดท้ายก็ไม่มีผล หรือแม้แต่จะมีตัวแทนรัฐบาล อย่างนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็นตัวประสานการเจรจาระหว่างชมรมแพทย์ชนบท และกระทรวงสาธารณสุข สุดท้ายก็ไม่สามารถเดินหน้าตามข้อเรียกร้องของชมรมแพทย์ชนบท จึงนำมาสู่การประท้วงหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
เรื่องนี้ “นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท พูดชัดเจนว่า ก่อนหน้านี้ที่ได้เข้าไปหารือร่วมกับนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. โดยมีนายสุภรณ์ เป็นตัวกลางนั้น มีข้อตกลงว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ในการปรับระเบียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นฉบับที่ 10 และจะมีการพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งอาจจัดทำเป็นประกาศฉบับ 10.1 แต่สุดท้ายนพ.ประดิษฐ ก็กลับคำ เรื่องนี้นายสุภรณ์ ได้โทรศัพท์และพูดในลักษณะที่ว่าไม่สามารถเจรจากับทาง สธ.ได้อีก จึงแน่ชัดว่า ขนาดนายสุภรณ์ เป็นผู้ประสานงานให้ ทางนพ.ประดิษฐ ยังไม่ดำเนินการตามที่ตกลงร่วมกันในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ขณะที่ นพ.ประดิษฐ ยืนยันเสียงแข็งว่า ตนได้ดำเนินการตามข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท โดยมอบหมายให้ปลัด สธ. นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะทำงานที่มีสหวิชาชีพต่างๆ แล้ว แต่เมื่อที่ประชุมไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถบังคับได้ แต่ก็จะนำเรื่องทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ และขอให้ชมรมแพทย์ชนบทช่วยเข้ามาร่วมประชุมด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ ไม่จบ
จากสถานการณ์ดังกล่าวอนุมานได้ว่า เรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ แม้ท้ายที่สุด รัฐมนตรีว่าการ สธ. จะเรียกประชุมชี้ขาดอีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ แต่แน่นอนว่าชมรมแพทย์ชนบท ยืนยันไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม เป็นการบอยคอตโดยปริยาย จึงแน่ชัดว่า ประกาศการจ่ายค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จะต้องเดินหน้าภายหลังปลัด สธ.เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเข้าครม. พิจารณา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป
แม้ชมรมแพทย์ชนบทจะประกาศชัดไม่สนเรื่องระเบียบค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอีก แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฯ ทั้งฉบับ 4 ซึ่งเป็นฉบับการจ่ายของโรงพยาบาลชุมชนที่ออกในสมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. และฉบับ 8.1 ที่เป็นผลจากการประชุมสหวิชาชีพ ยกเว้นแพทย์โรงพยาบาลชุมชน กับฉบับ 10 ที่เป็นข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท มีความแตกต่างอย่างไร
สรุปคร่าวๆ ดังนี้ อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ในส่วนของแพทย์/ทันตแพทย์ ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นฉบับเดิม จะแยกพื้นที่หลักๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1 ซึ่งมีพื้นที่ปกติ พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 และกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.2 ซึ่งมีพื้นที่ปกติ พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ยกตัวอย่าง หากแพทย์/ทันตแพทย์ ทำงานปีที่ 1-3 ในกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1 แบ่งเป็นพื้นที่ปกติจะได้รับเงิน 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 20,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้รับ 30,000 บาท ขณะที่กลุ่มพื้นที่ระดับ 2.2 ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเท่ากับกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1
หากแพทย์/ทันตแพทย์ ทำงานปีที่ 4-10 ในกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.1 แบ่งเป็นพื้นที่ปกติได้รับเงิน 30,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้รับ 40,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2ได้รับ 50,000 บาท ส่วนกลุ่มพื้นที่ระดับ 2.2 ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายลดลง 5,000 บาทในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
ส่วนฉบับใหม่ ซึ่งในที่นี่จะเป็นฉบับ 8 โดยไม่มีการปรับใช้เป็นฉบับ 8.1 เนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยสรุปคือ ฉบับ 8 จะถูกปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะอายุงานเท่าใดก็ตาม แต่จะไปเพิ่มเงินในส่วนของการทำงานตามผลปฏิบัติงานแทน จากปัญหานี้ทางชมรมแพทย์ชนบทจึงเสนอให้ออกประกาศฉบับ 10 อิงตามฉบับ 4 โดยอ้างอิงตามมติครม.เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าให้ สธ.ดำเนินการตามด้วยการออกประกาศอิงเนื้อหาหลักของประกาศฉบับ 4
โดยประกาศเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 10 ที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอ มีเนื้อหาและค่าตอบแทนที่เหมือนกับฉบับ 4 ทั้งหมด... เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลระหว่างวิชาชีพอื่นๆด้วยกัน ทั้งพยาบาล เภสัชกร ว่าอาจได้เงินน้อยลงจากฉบับ 8.1 ที่ทางคณะทำงานฯ ได้มีการประชุมและตกลงกันไปแล้ว และไม่อยากใช้ฉบับ 10 ซึ่งก็คือฉบับ 4 ตามเดิม ถึงแม้ชมรมแพทย์ชนบทจะบอกว่าสามารถออกพ่วงเป็นฉบับ 10.1 ได้ แต่งานนี้หลายวิชาชีพไม่มั่นใจ
กลายเป็นว่าไม่ได้ข้อยุติ สุดท้ายกระทรวงสาธารณสุขจะเดินหน้าอย่างไร คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับรัฐมนตรีว่าการ สธ. และปลัด สธ.เสียแล้ว
ต้องติดตาม...
- 53 views