มติชน - รศ.วิจิตร์ศรี สงวนวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.ได้ปรับปรุงรหัสประเภทกิจการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยกรณีลูกจ้างบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน มาเป็นรหัสกิจการตามประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC) โดยจากเดิมได้จัดรหัสประเภทกิจการไว้ 16 หมวด 131 รหัส ปรับรหัสใหม่เป็น 21 หมวด 1,091 รหัส เพื่อจำแนกกลุ่มประเภทกิจการได้ละเอียดชัดเจนมากขึ้น และสามารถกำหนดอัตราเงินสมทบที่เรียกเก็บจากนายจ้างเข้ากองทุนเงินทดแทนได้สอดคล้องความเสี่ยงที่แท้จริงของแต่ละกิจการ
"สำหรับการจำแนกรหัสใหม่ เช่น เลี้ยงสัตว์ จำแนกรหัสใหม่เป็นเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ ถ้าเลี้ยงไก่ไข่มีความเสี่ยงกว่าสัตว์ประเภทอื่นเพราะเสี่ยงติดไข้หวัดนกระบาด จึงต้องเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่น" รศ.วิจิตร์ศรีกล่าว และว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน 342,084 ราย และลูกจ้าง 8,575,398 คน และกำหนดอัตราเงินสมทบตามความเสี่ยงของประเภทกิจการในอัตราร้อยละ 0.2-1 ขึ้นอยู่กับสถิติการประสบอันตรายและการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างที่บาดเจ็บจากการทำงาน
รศ.วิจิตร์ศรีกล่าวว่า หลังจากนี้ อนุกรรมการจะเร่งกำหนดอัตราเงินสมทบที่เรียกเก็บจากนายจ้างเข้ากองทุนเงินทดแทนใหม่เพื่อให้สอดคล้องความเสี่ยงที่แท้จริงของแต่ละกิจการ และจะนำสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างมาพิจารณาย้อนหลัง 1 ปีเท่านั้น ตั้งเป้าจะทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 จากนั้นจะนำไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2558
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556
- 74 views