คมชัดลึก - สธ.จ่อเพิ่มกฎหมายควบคุม "บารากู่" ชี้กลิ่น ผลไม้แฝงสารพิษทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง คนสูดได้รับควันมากกว่าบุหรี่ถึง 100 มวน
การสูบบารากู่ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องราตรี และกลุ่มวัยรุ่นกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากการสูดควันดังกล่าวเสี่ยงเกิดอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงพยายามหาวิธีควบคุม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ส่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ พบว่าวัยรุ่นไทยหันมาสูบบารากู่กันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่มีอันตราย หรือมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแรต เนื่องจากเป็นการเผาไหม้กากผลไม้ ควันมีกลิ่นหอม และควันผ่านกระเปาะน้ำก่อนสูดเข้าสู่ร่างกาย
"ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ควันบุหรี่ที่ผ่านน้ำลงไปยังคงมีสารพิษในระดับสูง ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนัก และสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การสูบบารากู่แต่ละครั้งมักจะใช้เวลาสูบนาน ผู้สูบอาจสูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน" นพ.โสภณกล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ และเพิ่มการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ โดยผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้ข้อความตามข้อคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้ในปีหน้า ในระหว่างที่รอพระราชบัญญัติฉบับใหม่ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งดการอนุญาตการนำเข้า รวมถึงการจำหน่ายสารสกัดนิโคตินในประเทศ ควบคู่กับเครื่องสูบยาชนิดต่างๆ ยกเว้นหมากฝรั่งอดบุหรี่ และแผ่นแปะนิโคติน ที่ได้ขึ้นทะเบียนยาเพื่อลดการติดบุหรี่เท่านั้น
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า องค์การอนามัยโลก และองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก ได้กำหนดให้วันพุธในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก ในปีนี้ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคถุงลมโป่งพอง พร้อมกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขตระหนักว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศ อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคซีโอพีดี เกิดจากการสูดหายใจเอามลพิษ ในรูปของก๊าซ หรือฝุ่น เช่น ควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้เข้าไป สารพิษจากควันดังกล่าวจะไปทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสื่อมสภาพ เกิดอาการอักเสบ เป็นโรคที่มีความทุกข์ทรมานและรุนแรงมากที่สุด มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นโรคแล้วจะรักษาไม่หายขาด มีอาการคือ หายใจยากลำบาก หอบง่าย ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้ป่วยทั่วโลกเป็นโรคนี้กว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดในสมอง คาดว่าในอีก 7 ปี หรือในปี 2563 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มอีกร้อยละ 30
ส่วนประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานมีผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และถุงลมโป่งพองเข้ารับการรักษาที่ผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข จาก 46 จังหวัด ระหว่างปี 2550-2554 จำนวนสะสม 99,433 คน สาเหตุร้อยละ 90 เกิดมาจากการสูบบุหรี่ และที่น่าสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 40 ปี เกือบ 5,000 คน จึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ทุกคน ช้าหรือเร็วขึ้นกับจำนวน ระยะเวลาของการสูบบุหรี่
รมว.สาธารณสุขกล่าวถึงการแก้ไขและป้องกันปัญหาว่า กระทรวงมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ 3 ลด 3 เพิ่ม ในปี 2555-2557 โดย 3 ลด ได้แก่ 1.ลดนักสูบรายใหม่ 2.ลดนักสูบรายเก่าในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้สูบยาเส้น และ 3.ลดควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ที่สาธารณะและบ้าน ส่วน 3 เพิ่ม ได้แก่ 1.เพิ่มกลไกการป้องกัน อุตสาหกรรมยาสูบ แทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ 2.เพิ่มผู้ขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่จังหวัดและท้องถิ่น และ 3.เพิ่มนวัตกรรมการควบคุมยาสูบ
ที่มา--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 22 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view