ไทยรัฐ - จับตาประเด็นร้อนของกระทรวงสาธารณสุข กับนโยบาย MOC (Minimal Operating Cost) หรือค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ที่โรงพยาบาลควรได้รับการจัดสรร ท่ามกลางการคัดค้านของชมรมแพทย์ชนบท ที่เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้หายนะเกิดขึ้นแก่โรงพยาบาลชุมชนจริงหรือช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเด็นร้อนของกระทรวงสาธารณสุขที่ถกเถียงกันมาก คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของนโยบาย MOC (Minimal Operating Cost) หรือค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่โรงพยาบาลควรได้รับการจัดสรร จึงจะสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ปัญหาสำคัญของโรงพยาบาลคือ ได้รับจัดสรรเงินน้อยกว่า MOC ทำให้เงินไม่พอใช้ในการจัดบริการเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดการนำนโยบาย MOC มาใช้
ท่ามกลางการคัดค้านของชมรมแพทย์ชนบทที่เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้หายนะเกิดขึ้นแก่โรงพยาบาลชุมชน นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการสำนักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายแนวคิดเรื่อง MOC ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติลงนามในประกาศว่า ให้กระทรวงสาธารณสุขรับมอบอำนาจวงเงิน 1,800 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 ไปปรับเกลี่ยให้โรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่อง ให้สามารถทำงานได้ สอดคล้องกับข้อเสนอของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ขอให้ สปสช. ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรให้เงินกระจายไปช่วยโรงพยาบาลที่มีปัญหาการเงิน จึงนำความคิดเรื่อง MOC มาเป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณ แนวคิด MOC ได้ผ่านการศึกษาของนักวิชาการบัญชี ผ่านความเห็นของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะคณะอนุการเงินการคลังของ สปสช. ที่เข้ามาศึกษาเรื่องนี้ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำข้อมูลบัญชีของโรงพยาบาล ซึ่งบันทึกจริง จัดซื้อจริง และเป็นต้นทุนของโรงพยาบาลจริง นำมาเทียบกับเงินที่ได้รับจากหลักประกันสุขภาพ เพื่อนำมาดำเนินการร่วมกับการจัดสรรของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และน่าจะพัฒนาเครื่องมือนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่อไป ซึ่งอาจมีการปรับหลักเกณฑ์ ตัวเลขบ้างนิดหน่อย ถือว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน โดยเงิน MOC เป็นค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของโรงพยาบาล ที่ใช้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพแค่ 60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ค่าใช้จ่ายจริงของโรงพยาบาลทั้งประเทศ อยู่ที่ประมาณ 160,000 ล้านบาท แต่ค่า MOC จะมีแค่ประมาณ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น เป็นการดำเนินการ เพื่อหวังว่าเงินที่มีในวงจำกัดนี้ จะได้กระจายไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อดูแลประชาชนให้ทั่วถึง โดยเรื่องนี้ไม่ได้ก้าวก่าย หรือยกเลิกการจัดสรรของ สปสช. ยังคงจัดสรรไปตามหลักการเดิมทุกประการ เพียงแต่กรอบของ MOC จะชี้ให้เห็นว่ามีงบประมาณที่จัดสรรให้กับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่
"เป็นครั้งแรกที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ตัวเลขทางบัญชีที่บันทึกจริง จัดซื้อจริง และเป็นต้นทุนของโรงพยาบาลจริง เช่น ค่าแรง ค่าวัสดุ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ ไม่รวมงบก่อสร้าง ค่าเสื่อม หรืองบแผนงานโครงการที่ได้รับจากรัฐบาลอยู่แล้วมาคิด นำมาเทียบกับเงินที่ได้รับจากหลักประกันสุขภาพ โดยคำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพด้วย แต่ในกรณีที่ MOC เกิดสูงกว่า หรือทุนจ่ายมาแล้วปรากฏว่าโรงพยาบาลทำงานไม่ได้ เราจะช่วยหาวิธีว่าจะเติมเงินให้โรงพยาบาลอย่างไร" นพ.บัญชา กล่าว
ขณะนี้การประเมินจากฝ่ายบัญชีกระทรวงสาธารณสุข สำหรับการปรับเกลี่ยงบประมาณ 1,800 ล้านบาท คำนวณตามหลักเกณฑ์การปรับเกลี่ยจัดสรรแล้ว โรงพยาบาลชุมชนจะได้รับไป 1,400 กว่าล้านบาท คิดเป็นประมาณ 75% ของเงินทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ได้รับประมาณ 400 ล้านบาท โดยเงินที่ MOC ประเมินทั้งประเทศกับของ สปสช. จัดสรรมาแตกต่างกันประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่เงินที่ได้คือ 1,800 ล้านบาท ดังนั้น เงินส่วนใหญ่จึงถูกจัดสรรให้โรงพยาบาลชุมชนที่ส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องที่มีอยู่ประมาณ 160-170 แห่ง มากกว่าให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางด้านการเงินการคลังในระดับที่ดีอยู่ก่อนแล้ว
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เปิดเผยว่า MOC คือวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่คิดขึ้นมา โดยมีสูตรคำนวณแล้วจัดสรรตามค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการดำเนินการของแต่ละสถานบริการ โดยทฤษฎีจะจัดให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ที่แต่ละแห่งควรใช้จ่าย ซึ่งเป็นหลักการที่ฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหามาก สาเหตุที่เกิด MOC ขึ้นมา เพราะกระทรวงสาธารณสุขต้องการฮุบเงินการสรรหาจาก สปสช. มาไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข เดิม สปสช.จัดสรรเงินตามรายหัวประชากร สำหรับผู้ป่วยนอก และงบส่งเสริมป้องกัน และคัดสรรตามปริมาณงาน ตามจำนวนผู้ป่วยในที่ดูแล ซึ่งก็ลงตัวและใช้กันมาเป็น 10 ปี โดยจะเป็นการจัดสรรตรงจาก สปสช. ลงสู่โรงพยาบาลโดยตรง ไม่ผ่านกระทรวง ไม่มีปัญหาหักหัวคิว กระทรวงสาธารณสุขสามารถแทรกแซงจัดสรรใหม่ได้เพียงเงินกัน 10% ในระดับจังหวัดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจะฮุบเงินจาก สปสช. มาจัดสรรเอง จึงต้องคิดระบบใหม่ขึ้นมา นั่นคือ MOC สูตรคำนวณการจัดสรรงบประมาณ โดยให้ทุกแห่งได้งบดำเนินการขั้นต่ำ MOC นั้น เข้าใจว่ามีคนรู้และเข้าใจไม่กี่คน พอจัดออกมาแล้วปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2556 ณ วันที่ 31 ต.ค. 56 พบว่าภาพรวมของหน่วยบริการทั้งหมดจำนวน 832 แห่ง ถูกคำนวณให้ได้รับเงินเพิ่มจำนวน 8,479.24 ล้านบาท โดยกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั้งหมด 95 แห่ง ภาพรวมได้รับเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 10,488.09 ล้านบาท แต่กลุ่มโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 737 แห่ง ภาพรวมได้เงินลดลงจำนวน 2,008.83 ล้านบาท และพบว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีหน่วยบริการทั้งหมด 33 แห่ง ภาพรวมได้เงินลดลง 180.72 ล้านบาท MOC ซึ่งมีหลักการที่ดี เป็นหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาขึ้นมา เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำกระจายงบให้เพียงพอสำหรับสถานบริการ กลับปรากฏว่าเมื่อมีการคำนวณด้วยสูตรที่ไม่มีใครรู้ ไม่เคยประชาพิจารณ์ระบบจัดสรรใหม่นี้ เงินจากโรงพยาบาลที่จนอยู่แล้ว กลับถูกโยกไปให้โรงพยาบาลจังหวัดที่รวยกว่า ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลจังหวัดไม่ควรได้งบเพิ่ม แต่การเอาเงินของคนค่อมไปให้คนเตี้ยไม่ถูกต้อง รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ ไม่ใช่ให้แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มาทะเลาะกับโรงพยาบาลชุมชน เพราะมาแย่งเค้กก้อนเดียวกัน ทั้งๆ ที่ก้อนเค้กเล็กเกินไป "MOC กำลังจะกลายเป็นหายนะของโรงพยาบาลชุมชน ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว ก็คงต้องหันกลับมาปัดกวาดบ้านตัวเองด้วย เกาะติดคำถามและคัดค้านแนวทาง MOC ที่แปลกผิดธรรมชาติด้วย ก่อนที่โรงพยาบาลชุมชนจะถูกทอนพลัง ตัดท่อน้ำเลี้ยง เพราะเป็นเด็กดื้อที่ค้านทุกเรื่อง หาก MOC ยังเดินหน้าขบวนการไล่หมอประดิษฐแบบที่เกิดขึ้นในช่วงการค้าน P4P อาจกลับมาอีกครั้ง"
ไม่ว่าบทสรุปของนโยบาย MOC จะออกมาในรูปแบบใด ก็ต้องติดตามกันต่อไป เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายคงจะยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 28 views