มติชน - วันที่ 18 พฤศจิกายน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ประกันตนต้องคลอดบุตรที่บ้านเนื่องจากโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมปฏิเสธการทำคลอด เพราะเกรงว่าจะไม่มีเงินจ่าย ทาง สปส.จึงหาแนวทางปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร คือ เมื่อผู้ประกันตนคลอดบุตรที่โรงพยาบาลในระบบประกันสังคม ให้ทางโรงพยาบาลเป็นฝ่ายประสานมาที่ สปส.เพื่อให้ทาง สปส.จ่ายเงินค่าคลอดบุตรให้โรงพยาบาลทันทีหลังจากผู้ประกันตนคลอดบุตร เรียกว่าเป็นการจ่ายข้างเตียง ส่วนกรณีผู้ประกันตนคลอดบุตรที่โรงพยาบาลนอกระบบประกันสังคม จะให้ สปส.ไปจ่ายข้างเตียงหรือผู้ประกันตนสำรองจ่ายเงินไปก่อนและนำมาเบิกเงินค่าคลอดบุตรจาก สปส.ภายหลังก็ได้
"ส่วนกรณีผู้ประกันตนตั้งครรภ์และมีอาการโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ก็ถือเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลตามเงื่อนไขข้อตกลงของทั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ซึ่งโรงพยาบาลที่ให้การรักษาและทำคลอดสามารถยื่นเรื่องเบิกเงินค่ารักษาและค่าทำคลอดผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือจะยื่นเรื่องเบิกมายัง สปส.โดยตรงก็ได้ หรือกรณีค่าคลอดบุตรจะให้ สปส.ไปจ่ายข้างเตียงก็พร้อมจะไปจ่าย" นาย สุรเดชกล่าว และว่า โดยทาง สปส.จะต้องทำเรื่องขออนุมัติจากคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.เพื่อขอให้ สปสช.ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางดูแลการรักษาและเบิกค่ารักษาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุนทำหน้าที่วินิจฉัยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินเนื่องจากโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของผู้ประกันตนแทน สปส.เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำคำวินิจฉัยดังกล่าวมายืนยันอาการของผู้ประกันตนและสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่ารักษากับ สปสช.หรือ สปส.ได้
รองเลขาธิการ สปส.กล่าวว่า ตนจะเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงแรงงานภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องเข้าบอร์ด สปส.ในเดือนธันวาคมนี้ หากได้รับความเห็นชอบก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2557
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 340 views