Hfocus -เส้นทางการบรรจุลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการยังมีเรื่องยุ่งยากไม่รู้จบ แม้จะผ่านกระบวนการบรรจุมาแล้ว 1 รอบ ซึ่งรอบนั้นกว่าจะบรรจุได้ก็มีม็อบพยาบาลสวมชุดยูนิฟอร์มมากดดันผู้มีอำนาจทั้งในกระทรวงสาธารณสุข ไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล มาปีนี้การบรรจุรอบที่ 2 ได้เลยเกณฑ์กำหนดมาเกือบ 2 เดือนแล้ว นอกจากจะยังไม่สามารถเสนอขออนุมัติจาก ครม.แล้ว ยังส่อเค้าวุ่นวายไม่เลิก
นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข
นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข ผู้นำเครือข่ายสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ออกมาเรียกร้องสิทธิในการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขรอบที่ 2 หลังจากพิจารณาคำสั่ง หลักเกณฑ์แล้วพบว่าไม่มีความเป็นธรรม หลักเกณฑ์แต่ละที่ไม่เหมือน นโยบายมามันกว้าง รูปแบบก็ไม่ชัด ส่งผลให้มีการบรรจุข้ามรุ่น โดยเฉพาะการเปิดสอบเข้ารับตำแหน่งยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้มีการใช้เส้นสาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น้องๆ กลัวกันมาก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คนนอกโรงพยาบาลสังกัดกระทวงสาธารณสุขเข้ามาสอบแข่งขัน ถ้าจะเปิดสอบจริงๆ อย่างน้อยน่าจะมีข้อกำหนดว่าต้องเป็นคนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3-4 ปีเท่านั้น ซึ่งเด็กที่รอบรรจุเขาทำงานมาแล้วประมาณ 4-5 ปี เพราะฉะนั้นถ้าจะสอบก็อยากให้เพิ่มเงื่อนไขด้วยว่าต้องทำงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3-4 ปี ก็จะกันเรื่องการข้ามขั้นได้
ล่าสุดได้มีการหารือร่วมกันของสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศถึงทางออกของเรื่องนี้ ได้ข้อสรุปเป็นข้อเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุข 4 ข้อ คือ
1.การบรรจุรอบนี้ ต้องยึดตามระบบรุ่นพี่รุ่นน้องเท่านั้น ให้ดูตามอายุการทำงานการรอคอยบรรจุใน พื้นที่ แยกตามสายงาน
2.การบรรจุรอบที่ 2 ปี 2557 เงื่อนไขการใช้ FTE (เงื่อนไขการใช้ตามภาระงาน) ขอให้พิจารณาใหม่ เพราะไม่สามารถนำมาใช้ได้ทุกสายงาน ด้วยภาระงานนั้นทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องพื้นที่ ทำให้เสียขวัญและกำลังใจ เพราะไม่สอดคล้องกับจำนวนคนรอบรรจุจริงในพื้นที่ ขอให้กระทรวงพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่
3.การบรรจุรอบนี้ ให้นำตัวเลขตำแหน่งที่มีอยู่ นำมาจัดสรรใหม่ เฉลี่ยตามสัดส่วนจำนวนรอคอย อย่างเท่าเทียมกันทุกสายงาน เพราะทุกคนทำงานเป็นองค์รวมร่วมกัน หรือยึดตามอัตรากรอบเดิมรอบแรก โดยอิงการรับรองจาก กพ. เท่านั้น เพราะตำแหน่งรอบนี้ ไม่มีความสัมพันธ์กับจำนวนคน จำนวนระยะรอคอยตามปีจบ ทำให้เกิดการตกหล่นจำนวนมาก แม้จะบรรจุได้ไม่ครบ 100% ของยอดรอการบรรจุ ก็สามารถจะยอมรับได้
และ 4.ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหวิชาชีพ หรือเกี่ยวกับสายงานใดสายงานหนึ่ง ขอให้มีผู้แทนสหวิชาชีพ หรือผู้แทนสายงานนั้นๆ ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องนั้นด้วย ทุกเรื่อง เพราะทุกสายงานมีความสำคัญในการขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้มีส่วนร่วมและในการเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวของชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข โดยได้ส่งเป็นหนังสือไปยังสำนักงานปลัดฯเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2556
และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 สมาชิกชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข จากทั่วประเทศ จะเดินทางเข้ามารับฟังชี้แจงตามข้อเรียกร้อง ตั้งแต่เวลา 07.30 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 และจะอยู่รอจนกว่าจะได้รับคาตอบที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งถ้าออกมาในทางบวกก็จบในวันนั้น มอบดอกไม้กันไป แต่ถ้าออกมาในทางลบ ยอมรับไม่ได้ ไม่วินวิน ก็ต้องยืดเยื้ออย่างต่ำเราตีไว้ประมาณ 3 วัน แต่ก็ไม่ได้ออกไปถนนใหญ่ แค่ชุมนุมภายในพื้นที่กระทรวงเท่านั้น
นายปราเมษฐ์ ดวงจร ประธานสหวิชาชีพกระทรวงสาธารรณสุขภาคเหนือ
“การที่ทุกคนกระตือรือร้นที่จะเป็นข้าราชการเพราะได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ตอนเรียนแล้วว่าการได้เป็นข้าราชการเท่ากับการได้เป็นพระหัตถ์ของในหลวง ได้ตอบแทนท่าน ได้ทำในสิ่งที่ท่านจะทำให้กับประชาชน “ นายปราเมษฐ์ ดวงจร ประธานสหวิชาชีพกระทรวงสาธารรณสุขภาคเหนือ กล่าวถึงทัศนคติของการเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
แต่เหตุที่ต้องออกมาเรียกร้องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการในรอบที่ 2 ทั้งๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของฝ่ายบริหาร เพราะหลักเกณฑ์การบรรจุครั้งนี้แตกต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญคือ “ไม่มีความเป็นธรรม” จากการที่นำเอาหลักการคิดตามภาระงาน (FTE) เท่ากับว่าคนที่ทำงานในพื้นที่ทุรกันดารจะไม่ได้รับการบรรจุ เพราะว่าในพื้นที่ทุรกันดารงานน้อย เพราะฉะนั้นค่า FTE จะต่ำมาก แต่ใครที่ทำงานในเมือง มีเซเว่นอีเลฟเว่น มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ประชาชนเยอะ ภาระงานสูงมาก ค่า FTE ขึ้นสูงมากเพราะฉะนั้นการบรรจุในรอบนี้คนที่อยู่ในเขตเมืองจะได้บรรจุเลยโดยที่จะไปถึงรุ่นไหนก็ไม่ทราบ แต่การคิดแบบนี้ไม่ยุติธรรมกับคนที่เสียสละไปอยู่พื้นที่ห่างไกล เราเลยร่วมสู้กันเพราะคิดว่ามันน่าจะมีหวังเพราะว่า ครม.ยังไม่ได้อนุมัติว่าใครจะได้รับการบรรจุ
“การเอาเก้าอี้ไปวางในพื้นที่ทุรกันดารเป็นเช่นนั้นจริง แต่สมมติว่านาย ก ทำงานในพื้นที่ทุรกันดารจริง แน่นอนว่านาย ก ต้องได้ แต่มันไม่ใช่ ความจริงคือ เอาเก้าอี้ไปวางไว้ที่ที่ทำงานของนาย ก แต่ นาย ข ซึ่งอยู่ในเมือง และมีค่า FTE สูง สามารถไปสอบเอาเก้าอี้ที่ควรจะเป็นของนาย ก มาเป็นของตัวเองได้ นี่คือปัญหาเขาต้องไปสอบแข่งขันกับคนอีกมากมาย ทั้งๆ ที่เก้าอี้ตัวนี้น่าจะเป็นของเขา” นายปราเมษฐ์ ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ
แต่การต่อสู้ก็คือการต่อสู้ที่มีความยากเอามากๆ เพราะว่าลูกจ้างฯ ก็เป็นเหมือนไม้จิ้มฟันที่จะไปงัดกับไม้ซุง ตลอดทางที่ดำเนินการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิมาตามขั้นตอนต้องประสบกับปัญหามากมาย อย่างเช่นว่า การเดินทางไปพบผู้ใหญ่ในจังหวัด แต่ผู้ใหญ่ในจังหวัดบอกว่า “มันเป็นความผิดของพวกคุณเองที่มาเรียนแบบนี้” ทำไมท่านพูดอย่างนั้น นอกจากนี้การจะเข้าถึงผู้ใหญ่ได้ ก็โดนกีดกันจากหลายๆ คน จากหลายๆ ฝ่าย
นอกจากนี้ในแต่ละครั้งที่จะมีการนัดประชุมหารือกันนั้น ก็ไม่รู้ว่าทางผู้ใหญ่รู้ได้อย่างไรว่ามีการเคลื่อนไหว พอผู้ใหญ่บางคนทราบก็เรียกแกนนำแต่ละที่ไปต่อว่า และจับตาดูแกนนำอย่างใกล้ชิด นี่คือความยาก ปัญหาที่เกิดจริงๆ คือ ระดับจังหวัดบางจังหวัดไม่กล้ายื่นไประดับเขต แล้วระดับเขตก็ไม่รู้ว่ากล้าที่จะไปคุยกับระดับกระทรวงหรือเปล่า เพราะว่าอะไรหลายๆ อย่าง อ้างว่าคำสั่งออกมาจากกระทรวง แก้ไม่ได้ต้องเอาตามนี้ ทั้งๆ ที่มันแก้ได้ แต่ทำไมท่านไม่ทำ จริงอยู่พวกลูกจ้างฯ เป็นคนทำงานในพื้นที่ เป็นคนระดับรากหญ้า ถ้าวันหนึ่งไม่มีพวกเราแล้วโรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้
ทั้งนี้ทางสหวิชาชีพฯ ได้นัดรวมพลไปฟังคำตอบจากผู้บริหารกระทรวงฯ ในวันที่ 26 พ.ย. นี้ ถ้าออกมาเป็นลบก็ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรถ้าคำสั่งนี้แก้ไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้แก้คำสั่งรอบหน้าได้หรือไม่ หรือถ้าไม่มีรอบหน้าไม่มีแล้วก็ควรแก้คำสั่งในรอบนี้ เราจะต่อสู้อย่างเต็มที่เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำในการทำงาน”
นายปราเมษฐ์ ย้ำว่า การที่ลูกจ้างฝ่ายสนับสนุนนัดรวมตัวไปฟังผลในวันนั้น ไปอย่างคนที่มีใจรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไปร่วมกันต่อสู้ทั้งๆ ที่ไม่ว่าตัวเองจะได้หรือไม่ได้ แต่ขอให้กระทรวงบรรจุอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าตำแหน่งจะถึงหรือไม่ถึงไม่สำคัญ สำคัญที่ว่ากระทรวงได้ทำตามคำพูดที่พูดไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าคนที่ไม่ได้รับการบรรจุรอบนี้น่าจะมีการลาออกซึ่งประเทศไทยปัญหาเรื่องสมองไหลไปทำงานที่อื่นหมด รัฐแทบจะไม่มีคนทำงานแล้ว ยิ่งรัฐใช้นโยบายแบบนี้ยิ่งไม่ดึงดูดคนให้อยู่ในระบบ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนกำลังคน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าท้ายที่สุดทางกระทรวงจะออกระเบียบการจ้างงานแบบใหม่ที่เรียกว่า “พนักงานกระทรวงสาธาณสุข (พกส.)” ขึ้นมารองรับสำหรับผู้พลาดหวังจากการเป็นข้าราชการ ที่มีทั้งสวัสดิการ และเงินเดือนที่มากกว่าสิทธิข้าราชการถึง 1.2 เท่า ซึ่งนายปราเมษฐ์ บอกว่า ถ้าฟังดีๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเงินเดือนสูงกว่า 1.2 เท่า แต่ถ้าลองอ่านหนังสือที่กระทรวงส่งมาให้ มันไม่ใช่ คนที่จะได้รับเงินเดือน 1.2 เท่าเป็นสายวิชาชีพ คือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตกรรม เท่านั้น ไม่ใช่สายสนับสนุน สายสนับสนุนนอกจากจะไม่ได้อะไรแล้วยังถูกปรับจากลูกจ้างนักเรียนทุนไปเป็นลูกจ้างชั่วคราวแทน ที่สำคัญคือ พกส. ในปีแรกที่เริ่มดำเนินการจะต่อสัญญาเพียงปีเดียว ทั้งๆ ที่พกส. ของกระทรวงอื่นๆ จะต่อสัญญาให้ 4 ปี ถ้า พกส.ประเมินไม่ผ่านก็จะไม่ได้รับการจ้างต่อ หรือพูดแบบเข้าใจง่ายคือไล่ออก แต่ความจริงแล้วคิดว่ากระทรวงจะจ้างต่อเพราะกระทรวงแทบจะไม่มีคนเหลือแล้ว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ลูกจ้างสายวิชาชีพสธ.โวย บรรจุข้าราชการรอบ 2 ไม่เป็นธรรม เปิดช่องใช้เส้นสาย
สธ.ยันบรรจุขรก. 7,547 อัตราปี 57 เป็นธรรม เน้นตามภาระงานและขาดแคลน
เปิดหนังสือสป.สธ. แนวทางการจัด 7,547 อัตรา เพื่อบรรจุขรก.ปี 57
- 70 views