Hfocus -หากพูดถึงเชื้อดื้อยา หลายคนคงนึกถึงผลกระทบจากการทานยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคเป็นเวลานานเกินไป หรือทานไม่ถูกวิธีตามแพทย์สั่ง จนเกิดภาวะเชื้อดื้อยา จนไม่สามารถรักษาโรคได้ ขณะที่จะหวังพึ่งการวิจัยพัฒนายาใหม่ๆคงยาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะหันไปวิจัยพัฒนายากลุ่มโรคที่มีราคาแพงมากกว่า
ดังนั้น ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานด้านยาจึงหันมารณรงค์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา
แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วปัญหาเชื้อดื้อยามีผลกระทบมากกว่านั้น...
ยืนยันได้จาก "ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี" คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากการเดินทางไปร่วมประชุมวิชาการเชื้อดื้อยานานาชาติ ที่ประเทศเอกวาดอร์ เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีนักวิจัยด้านเชื้อดื้อยาจากหลากหลายประเทศ มีข้อสรุปว่า ขณะนี้ปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ใช่แค่การทานยา จนไม่สามารถฆ่าเชื้อได้เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างไปถึงสิ่งแวดล้อม เรื่องใกล้ตัวรอบๆตัวเราอีก เห็นได้จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการที่เลี้ยงไก่ สุกร หรือโค โดยเฉพาะไก่ หันมาใส่ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์ เพื่อเร่งเนื้อ เร่งการเจริญเติบโต เนื่องจากมีผลต่อผลประกอบการ แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างไร
"ในที่ประชุมมีความเป็นห่วงมาก อย่างการให้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ หากให้ไม่หมด มีการหลงเหลือ และถูกชำระล้างก็จะไหลลงปนเปื้อนในส่ิงแวดล้อมทั้งดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เห็นได้จากปะการังฟอกขาว น้ำทะเล ชายหาดมีการปนเปื้อนต่างๆ เชื่อว่ามีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเจือปนของยาปฏิชีวนะด้วย ไม่เพียงเท่านี้จากการร่วมประชุมเชื้อดื้อยาระดับชาติ ที่ประเทศเวียดนาม ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ และพบว่ามีการให้ยาปฏิชีวนะผสมอาหารไก่สูงขึ้น เพื่อทำให้ไก่เจริญเติบโตเร็ว ซึ่งตรงนี้มีความกังวลกันว่า ยาปฏิชีวนะจะหลงเหลืออยู่ในเนื้อไก่ และเข้าสู่วงจรการบริโภคในมนุษย์ จนมีการศึกษาติดตามว่า ปัจจุบันที่เด็กอ้วนและโตเร็ว มาจากภาวะการรับประทานเนื้อไก่ที่มียาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่หรือไม่" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
สำหรับประเทศไทยกรณีที่พบเด็กไทยอ้วนขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามเช่นกันว่า มีปัจจัยจากเรื่องนี้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลเด็ก หรือ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังติดตามในเรื่องจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าคนเรามักเข้าใจว่า เชื้อจุลินทรีย์เป็นเชื้อชนิดไม่ดีทั้งหมด ในความเป็นจริงยังมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีอยู่อีกมากในร่างกาย โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลเด็กพบว่า เด็กทารกที่มารดาคลอดเองจะออกมามีร่างกายแข็งแรง กว่าเด็กที่คลอดด้วยการผ่าตัด เนื่องจากมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า น่าจะเชื่อมโยงกับเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในช่องคลอดของแม่ก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการพูดถึงการศึกษาวิจัยในงานประชุมวิชาการเชื้อดื้อยา ที่โรงพยาบาลเด็ก วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้
เห็นได้ว่าร่างกายมนุษย์มีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีอีกมาก จึงควรรักษาไว้ และถอยห่างการทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกันในเรื่องของการเลี้ยงไก่ เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค แต่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเจือปนเพื่อเร่งเนื้อนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ผศ.ภญ.นิยดา บอกว่า ที่ผ่านมาไทย มีศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่ปัญหาคือ ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการตรวจสอบเชื้อดื้อยาที่เจือปนในสิ่งแวดล้อม หรือในสัตว์เลี้ยงเพื่อบริโภค ซึ่งตรงนี้ต้องมีการให้ความสำคัญ แม้ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีข้อกำหนดห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเจือปนในการเลี้ยงสัตว์ แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่มีใครทราบว่ามีการคุมเข้มแค่ไหน อีกทั้ง ในกรณีที่ทางประเทศฝั่งยุโรป มีการห้ามใช้กรณีนี้ และหากพบเนื้อสัตว์ สินค้านำเข้ามามีสารเจือปนจะส่งกลับทันทีนั้น ก็ไม่มีการตรวจสอบว่า เนื้อสัตว์จากไทยในกรณีถูกตีกลับ เพราะมีสาเหตุเหล่านี้หรือไม่ เรื่องนี้ควรมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้มีความรับผิดชอบด้วย เนื่องจากในกรณีที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์จริง และหากปนอยู่ในเนื้อสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง
การที่เรารับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารปนเปื้อน ไม่ว่าอะไรก็ตาม หรือยาปฏิชีวนะก็ย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย อย่างกรณีเด็ก หากโตเร็วขึ้น อ้วนขึ้นก็เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ กลายเป็นโรคอ้วน และโรคอื่นๆตามมา ขณะเดียวกันเราไม่มีทางรู้เลยว่า จะส่งผลกระทบต่อยีนอื่นๆในร่างกายเราหรือไม่ ทางที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกดผลกระทบในระยะยาว ควรมีระบบตรวจสอบการเลี้ยงสัตว์ว่า มีมาตรการอย่างไร ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์จริงหรือไม่ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง
หากป้องกันปัญหาได้ก่อนจะเกิดขึ้น ย่อมดีกว่ามาแก้ไขเมื่อสายไป...
- 158 views