วอชิงตัน-วิกิลีกส์แฉเล่ห์รัฐบาลมะกันอีกระลอก ชี้ทำข้อตกลงการค้าในภูมิภาคแปซิฟิก แฝงข้อสัญญาปกป้องบริษัทยาในประเทศ ทำผู้บริโภคต้องทนใช้ยาแพง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ย.) ว่า วิกิลีกส์ เว็บไซต์จอมแฉของนายจูเลียน อัสซานจ์ ที่กำลังลี้ภัยในสถานทูตเอกวาดอร์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นที่ต้องการตัวของทางการสวีเดน และ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ร่างข้อตกลงความตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่มีการนำเสนอในที่ประชุมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่าง 12 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกากำลังกดดันประเทศสมาชิกทีพีพี เพื่อให้รับรองข้อสัญญาที่ปูทางให้แก่บริษัทยาสามารถครองสิทธิบัตรการผลิตยาได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การผลิตยาโดยใช้สิทธิการผลิตยาเหนือสิทธิบัตรที่ประเทศต่างๆ ใช้อ้างเพื่อการผลิตยาประสิทธิภาพสูงแต่มีราคาถูกกว่ายาต้นแบบ แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้
ข้อตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตยา เช่น ไฟเซอร์ อิงค์ และเมิร์ค แอนด์ โค มีสิทธิปกป้องสิทธิบัตรในการผลิตยาในเวลาหนึ่งเพื่อให้บริษัทผู้ผลิตยาเหล่านั้นสามารถถอนทุนคืนจากการลงทุนทำวิจัยยา โดยตัวแทนเจรจาของสหรัฐอเมริกาพยายามอ้างว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างการกีดกันการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรการผลิตยากับความต้องการในการผลิตยาราคาถูกและการเข้าถึงยาในกลุ่มประเทศกำลัง พัฒนา
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันให้มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้ โดยจะหยิบยกร่างสัญญาดังกล่าวขึ้นมาหารือในการประชุมทีพีพี ณ เมืองซอลท์ เลค ซิตี้ รัฐยูทาห์ ในวันอังคาร (19 พ.ย.)
ประเทศสมาชิกที่อยู่ในกรอบทีพีพี ประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของ 12 ประเทศสมาชิกแล้วจะอยู่ที่ 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 896 ล้านล้านบาท) เทียบเท่ากับ 40% ของจีดีพีโลก
อย่างไรก็ตาม เอกสารที่วิกิลีกส์เปิดเผยไม่ครอบคลุมเกี่ยวกับข้อตกลงด้านสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกาจนถึงผู้ปลูกข้าวในประเทศญี่ปุ่น ที่มีความกังวลกันว่าสมาชิกทีพีพีจะให้การปกป้อง เพิ่มเติม
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 15 พฤศจิกายน 2556
- 4 views