สธ.โต้กลับหมอชนบทกล่าวหาใช้กรอบ MOC จัดสรรงบรายหัว สปสช.ทำ รพช.ได้รับงบน้อยลง ยันจัดสรรให้ รพช.ถึง 1,400 ล้านบาท รพศ./รพท.400 ล้านบาท ชี้ช่วยโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องจากการมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสูงกว่างบรายหัว
วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการสำนักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีแนวความคิดการจัดสรรเงินขั้นต่ำที่ใช้ในการบริหารจัดการให้โรงพยาบาลบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือทีเรียกย่อ ๆ ว่าเอ็มโอซี (Minimum Operating Cost : MOC)ว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.มีมติลงนามในประกาศว่า ให้กระทรวงสาธารณสุขรับมอบอำนาจในวงเงิน 1,800 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 ไปปรับเกลี่ยให้โรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่อง ให้สามารถทำงานได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ขอให้ สปสช.ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรให้เงินกระจายไปช่วยดูแลโรงพยาบาลที่มีปัญหาการเงิน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและสปสช.เองก็มีเจตนา และกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลพร้อม จึงนำความคิดเรื่องเอ็มโอซีมาเป็นกรอบแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณ
โดยแนวคิดเรื่องเอ็มโอซีนี้ ได้ผ่านการศึกษาของนักวิชาการบัญชี ผ่านความเห็นของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะคณะอนุการเงินการคลังของ สปสช.ที่เข้ามาศึกษาเรื่องนี้ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำข้อมูลบัญชีของโรงพยาบาลซึ่งบันทึกจริง จัดซื้อจริง และเป็นต้นทุนของโรงพยาบาลจริง นำมาเทียบกับเงินที่ได้รับจากหลักประกันสุขภาพ เพื่อนำมาดำเนินการร่วมกับการจัดสรรของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และน่าจะพัฒนาเครื่องมือตัวนี้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่อไป ซึ่งอาจจะมีการปรับหลักเกณฑ์ ตัวเลขบ้างนิดหน่อย ถือว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน
โดยเงินเอ็มโอซี เป็นค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของโรงพยาบาลที่ใช้ในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ค่าใช้จ่ายจริงของโรงพยาบาลทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 160,000 ล้านบาท แต่ค่าเอ็มโอซีจะมีแค่ประมาณ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น เป็นการดำเนินการเพื่อหวังว่าเงินที่มีในวงจำกัดนี้ ได้กระจายไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อดูแลประชาชนให้ทั่วถึงก่อน โดยเรื่องนี้ไม่ได้ก้าวก่ายหรือยกเลิกการจัดสรรของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังคงจัดสรรไปตามหลักการเดิมทุกประการ เพียงแต่กรอบเอ็มโอซีจะชี้ให้เห็นว่า มีงบประมาณที่จัดสรรให้กับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงมีความแตกต่างกันหรือไม่
“เป็นครั้งแรกที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ตัวเลขทางบัญชี ที่บันทึกจริง จัดซื้อจริง และเป็นต้นทุนของโรงพยาบาลจริง เช่น ค่าวัสดุ ค่าแรง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ ไม่รวม เช่น งบก่อสร้าง ค่าเสื่อม หรืองบแผนงานโครงการที่ได้รับจากรัฐบาลอยู่แล้วมาคิด นำมาเทียบกับเงินที่ได้รับจากหลักประกันสุขภาพ โดยคำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพด้วย เช่น โรงพยาบาลมีต้นทุนขั้นต่ำปรากฏว่ายังสูงกว่า สปสช. ก็ต้องหารือกับ สปสช.ขอให้ช่วยมาเติมให้โรงพยาบาลนี้ทำงานดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ส่วนโรงพยาบาลบางแห่งได้รับการจัดสรรมามากกว่าค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ก็เป็นเรื่องของโรงพยาบาลว่าอาจมีผลงานดีก็ควรได้รับไป เราไม่ไปทำอะไรตรงนั้น แต่ในกรณีที่เอ็มโอซีเกิดสูงกว่า หรือทุนจ่ายมาปรากฏว่าโรงพยาบาลทำงานไม่ได้ เราจะช่วยกันหาวิธีว่าจะเติมเงินให้โรงพยาบาลนี้อย่างไร” นายแพทย์บัญชากล่าว
ในขณะนี้การประเมินจากฝ่ายบัญชีกระทรวงสาธารณสุขสำหรับการปรับเกลี่ยงบจำนวน 1,800 ล้านบาท คำนวณตามหลักเกณฑ์การปรับเกลี่ยจัดสรรแล้ว โรงพยาบาลชุมชนจะได้รับไป 1,400 กว่าล้านบาท คิดเป็นประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ก็ได้รับประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งเงินเอ็มโอซี ที่ประเมินทั้งประเทศกับของ สปสช.จัดสรรมา แตกต่างกันประมาณ 8,000 กว่าล้านบาท แต่เงินที่ได้คือ 1,800 ล้านบาท ดังนั้นเงินส่วนใหญ่จึงจะถูกจัดสรรให้โรงพยาบาลชุมชนที่ส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง ที่มีอยู่ประมาณ 160-170 แห่ง มากกว่าให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางด้านการเงินการคลังในระดับดีอยู่ก่อนแล้ว
- 15 views