พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)2554 เกิดสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการผลักดันของนายกรณ์ จาติกวณิช ที่เสนอเรื่องของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ที่พยายามทำคลอดเรื่องนี้มานานเพื่อเป็นหลักประกันให้กับแรงงานนอกระบบกว่า 25 ล้านคนได้มีหลักประกันเงินบำนาญหลังเกษียณอายุ 60 ปี ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
เมื่อแนวคิดของสศค.ตรงกับฝ่ายนโยบายทำให้ กอช.เกิดขึ้นได้อย่างเร็ว ภายใต้แนวคิดสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานนอกระบบอย่างเพียงพอเป็นการต่อยอดรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบนอกเหนือจากที่ได้รับจากรัฐบาลในส่วนของเงินชราหรือพิการ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังหวังผลจาก กอช.จะเป็นการสร้างวินัยการออมให้กับแรงงานนอกระบบขณะเดียวกันก็เป็นการลดภาระของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตที่จะมีมากขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว การพึ่งเงินงบประมาณไปดูแลคนสูงอายุเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้
หลักของ กอช. เป็นการออมภาคสมัครใจให้กับแรงงานนอกระบบ โดยสมาชิกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำนาญ เช่น กองทุนประกันสังคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยต้องมีอายุตั้งแต่15-60 ปี สามารถเข้าเป็นสมาชิกกองทุนได้ โดยจ่ายเงินสมทบได้ตั้งแต่ขั้นต่ำ 50 บาท ไปจนถึง13,200 บาทต่อปี
กอช.ยังสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิก โดยรัฐบาลจ่ายสมทบให้ 50% ของเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี สำหรับสมาชิกที่อายุ 15-30 ปี จ่ายสมทบให้ 80% ของเงินสมทบ แต่ไม่เกิน960 บาทต่อปี สำหรับสมาชิกอายุ 30-50 ปีและจ่ายสมทบ 100% แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี สำหรับสมาชิกอายุ 50-60 ปี
จากการประเมินเบื้องต้น หากสมาชิกเริ่มเป็นสมาชิก กอช.ตั้งแต่อายุน้อยๆ หลังจากเกษียณอายุจะได้เงินบำนาญปีละ 3,000 บาท ไปจนถึง8,000 บาท แล้วแต่จำนวนเงินมากน้อยที่จ่ายเข้าสมทบ เมื่อรวมกับเบี้ยคนชราที่รัฐบาลจ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน จะทำให้แรงงานนอกระบบมีรายได้ยังชีพหลังเกษียณอายุอยู่ที่4,000-9,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็ไม่ได้มีความพยายามผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับจากที่กฎหมายกำหนดว่าต้องรับสมาชิกหลังจาก 1 ปี ที่กฎหมายบังคับใช้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการ
ส่งผลให้ สศค.ที่รับหน้าที่เป็นคนขับเคลื่อนกอช. กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนล่าสุด สศค.ได้ทำแบบสอบถามรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)ผ่านทางอินเทอร์เน็ตบนหน้าเว็บไซต์ของ สศค.โดยให้ส่งความคิดเห็นกลับมาภายในวันที่ 15 พ.ย. 2556
สศค.ได้ให้เหตุผลในการออก พ.ร.บ.ยุบ กอช.ว่า เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของผลประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงานได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่25 ต.ค. 2556 ซึ่งมีสาระสำคัญในการเพิ่มรูปแบบความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ ภายใต้มาตรา 40 ของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม โดยมีหลักเกณฑ์ใกล้เคียงกับ กอช. โดยเฉพาะการกำหนดประโยชน์ทดแทนในรูปบำนาญชราภาพสำหรับผู้ที่ส่งเงินออมครบตามเงื่อนไขและการให้เงินสมทบจากรัฐ
นอกจากนี้ สศค.ยังระบุว่า ประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นผู้ประกันตนดังกล่าวจะได้รับสิทธิมากกว่าเป็นสมาชิก กอช. เช่น หากผู้ประกันตนส่งเงินมากกว่า 420 บาทต่อเดือน จะได้รับบำนาญ แต่หากส่งน้อยกว่า 420 บาทต่อเดือนจะได้บำเหน็จ ขณะที่ กอช.จะมีแต่การให้บำนาญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น รวมถึงรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้ผู้ประกันตน 100 บาทต่อเดือนทุกคนทันที ต่างจาก กอช.ที่จ่ายสมทบให้ 50-100 บาทตามอายุของสมาชิก
ว่าไปแล้วการชี้แจงของ สศค.เป็นการชี้แจงเพียงบางส่วนเท่านั้น เป็นการอธิบายส่วนที่กองทุนประกันสังคมให้มากกว่าเท่านั้น แต่ไม่ได้อธิบายถึงข้อด้อยของกองทุนประกันสังคม เมื่อเทียบกับการเป็นสมาชิก กอช.
การบริการกองทุนประกันสังคมเป็นที่รู้กันว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่า กบข.อยู่มาก ดังนั้นการบริหาร กอช.ที่ยึดแนวเดียวกับ กบข.ย่อมให้ผลตอบแทนสมาชิกที่ดีกว่าการเป็นสมาชิกมาตรา 40
นอกจากนี้ การเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา40 ได้รับผลตอบแทนต่อเดือนน้อยกว่าการเป็นสมาชิก กอช.จำนวนมาก เพราะให้จ่ายเงินสมทบต่ำ จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าจะได้เงินบำนาญ 1,000-2,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น เทียบกับ กอช.ที่จะได้สูงถึง 3,000-8,000 บาทต่อเดือนเพราะกำหนดให้สมาชิกจ่ายสมทบได้สูงถึง13,200 บาทต่อเดือน
ขณะที่การได้บำเหน็จของสมาชิกตามมาตรา40 ก็อยู่หลักไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้นไม่ได้เป็นแสนหรือเป็นล้านบาท ทำให้อาจไม่จูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก
แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มีการประเมินกันว่ากองทุนประกันสังคมที่ภาระต้องจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วย จ่ายเงินเกษียณให้กับผู้ชราภาพ จะมีปัญหาล้มละลายใน 20-30 ปีข้างหน้า เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทั้งจากปัญหาคนเกษียณมากขึ้นอายุยืนขึ้น ทำให้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นเป็นเงาตามตัวขณะที่ผู้เข้าเป็นสมาชิกมีจำนวนที่น้อยกว่า
ส่งผลให้การนำแรงงานนอกระบบไปฝากไว้กับกองทุนที่มีปัญหาในอนาคต ทำให้เป็นการสร้างความเสี่ยงแทนที่จะสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานนอกระบบ เป็นการตัดอนาคตของแรงงานนอกระบบที่จะมีเงินเกษียณยังเพียงพอและมั่นคงผ่านกองทุน กอช. เพียงเพราะรัฐบาลไม่อยากเดินตามรอยเท้ารัฐบาลเก่าเท่านั้น
และเหตุนี้เอง จะทำให้แรงงานนอกระบบถือโอกาสนี้ออกมาขับไล่รัฐบาล ทำให้การชุมนุมขับไล่รัฐบาลมีคนมาร่วมเยอะขึ้นอีก
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556
- 60 views