Hfocus -กระทรวงสาธารณสุขเร่งกำลังการผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ระบบจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงาน ยิ่งกำลังจะเปิดตลาดอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า วิชาชีพทางด้านสาธารณสุขยิ่งเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงาน แต่ลำพังค่าตอบแทนที่ภาครัฐให้กับบุคลากรวิชาชีพเหล่านี้ เมื่อเทียบกับภาระงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็ทำให้หลายต่อหลายคนเกิดความท้อแท้ ลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็มาก ยิ่งมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างเงินบำรุงของโรงพยาบาลด้วยแล้ว ความเสี่ยงที่จะทำให้คนทำงานออกจากระบบของรัฐยิ่งมีมากขึ้น การเพิ่มกำลังการผลิตจึงเปรียบเสมือนกระเชอก้นรั่ว ที่เติมเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม หากไม่มีแรงดึงดูดด้านความมั่นคงในหน้าที่การงานที่จะตรึงให้คนทำงานอยู่ในระบบให้ได้
นางสาวขวัญฤดี เสาเวียง พยาบาลที่เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 หลังจากทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษมานานถึง 5 ปี บอกว่า หลังได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้วได้รับเงินเดือนที่ 14,630 บาท บวกค่าครองชีพได้รับอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 500-1,000 บาท ได้รับสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลของพ่อ แม่ และครอบครัวสายตรง รวมถึงสิทธิกู้เงินได้เยอะขึ้นถึง 70-80% ของเงินเดือน จากเดิมที่สามารถทำการกู้ได้เพียง 100,000-200,000 บาท แต่ที่รู้สึกว่าพอใจมากคือการได้รับความมั่นคงในหน้าที่การงาน
อย่างไรก็ตามแม้ตัวนางสาวขวัญฤดีจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการไปแล้ว แต่ยังห่วงเพื่อน พี่ น้องพยาบาล ที่ยังรอการบรรจุอยู่ตอนนี้ เพราะได้ยินว่ามีเงื่อนไขการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการรอบนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก โดยเน้นบรรจุในพื้นที่ที่ขาดแคลนซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เท่าที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมวิชาชีพก็มีหลายคนที่บ่น และไม่อยากจะย้ายไปนั่งตำแหน่งในที่ไกลๆ เพราะตอนนี้ถือว่าได้ทำในพื้นที่ใกล้บ้านเกิด การย้ายไปที่อื่นนั้นก็ไม่รู้ว่าจะได้ย้ายกลับมาที่นี่อีกเมื่อไหร่ เพราะการย้ายที่ทำงานนั้นทำยากมาก หากไม่มีตำแหน่งสลับ พวกที่บรรจุแล้วหากไม่มีตำแหน่งสลับกันจะไม่ให้ย้ายเลย
เช่นเดียวกับน้องสาวของเธอ “มิ้น” หรือ นางสาวจีรวรรณ เสาเวียง นักรังสีการแพทย์ ลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี บอกว่าเพิ่งผ่านการประเมินเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่ลึกๆ แล้ว ก็ยังรอการบรรจุเป็นข้าราชการซึ่งจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เธอมีความมั่นคงในวิชาชีพมากที่สุด เพราะแม้รายได้ของการจ้างงานแบบ พกส.จะมากกว่าการเป็นข้าราชการถึง 1.2 เท่า แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าอนาคตจะไม่เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานอีก หรือไม่รู้ว่าวันนี้พรุ่งนี้เขาจะเลิกจ้างเราทำงานเมื่อไหร่
นางสาวจีรวรรณ กล่าวว่า เธอย้ายตัดสินใจลาออกจากโรงพยาบาลเอกชนที่ขณะนั้นได้รับค่าตอบแทนอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท เพื่อมารับเงินเดือน บวกสวัสดิการต่างๆ จากโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานีที่ต่ำกว่าเดิมอยู่มากโข แม้จะเพียงพอใจการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวแต่ต้องบอกว่าเหนื่อยมาก และถ้าเทียบกับภาระงานที่ทำอยู่แล้วเรียกได้ว่า ทำงานเกินเงินเดือนมากมายนัก บางครั้งคนไข้เยอะ บวกกับบรรยากาศในสถานที่ทำงานยิ่งทำให้ท้อแท้บ้างในบางครั้ง โชคดีที่เธอรักในงานที่ทำ จึงทำให้เธออยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
“การทำงานย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลของรัฐแทนการทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแม้จะได้รับเงินเดือนที่เดิมมากกว่าแต่เพราะว่าหวังตำแหน่งข้าราชการนี่หละ อีกทั้งการทำงานในโรงพยาบาลเอกชนไม่มีความมั่นคงเพราะเมื่อเราเริ่มมีอายุมากขึ้นจะถูกบีบให้ออก แล้วจ้างเด็กใหม่เข้ามา เพราะเมื่อเราอยู่นานเงินเดือนเพิ่มเขาจึงคิดว่าให้เราออกแล้วไปจ้างเด็กใหม่ในราคาที่ถูกกว่า จึงหวังว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะจะทำให้เรามีสิทธิสวัสดิการมากขึ้นกว่าเดิม สามารถเบิกค้ารักษาพยาบาลตัวเองและครอบครัว ที่สำคัญมั่นคงมากกว่าการเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลแน่นอน เพราะบางครั้งการเป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้นทางโรงพยาบาลสามารถยกเลิกสัญญาจ้างกับเราได้ทุกเมื่อ ซึ่งเราไม่มีสิทธิไปว่าเขาได้ เรียกว่าการเป็นข้าราชการมีความมั่นคงมากที่สุดแล้ว” นักรังสีการแพทย์ กล่าว
ด้าน นางสาวสรัญญา โตมร นักปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ EMT ประจำโรงพยาบาลชุมชนภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับการบรรจุด้วยเช่นกัน ซึ่งจะได้รับสวัสดิการจะเพิ่มขึ้น ทั้งค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว และสิทธิในการกู้ยืมที่มากกว่าเดิม จากที่ปัจจุบันได้รับเงินเดือน เบี้ยกันดาร และค่าล่วงเวลา รวมๆ กันแล้วค่าตอบแทนที่ได้รับประมาณ 17,000-18,000 บาท ซึ่งในเงินจำนวนนี้ต้องส่งทางบ้านประมาณ 4,000-5,000 บาท ที่เหลือยังสามารถประคองตัวอยู่ในภาวะค่าครองชีพสำหรับตัวคนเดียวในถิ่นทุรกันดาร แต่ก็ยังหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนมากกว่านี้
นางสาวสรัญญา เล่าถึงภาระงานให้ฟังว่า เธอจะเป็นผู้ออกเหตุรับคนไข้อุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ระหว่างรอที่ประจำอยู่ที่หน่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่มีคนไข้ จะคอยช่วยเหลือพยาบาลในการเย็บแผล ล้างแผล ใส่สายทางจมูก พ่นยา ฉีดยา ต้องทำทุกอย่าง แต่เนื่องจากโรงพยาบาลภูสิงห์ เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กการทำงานจึงไม่เหนื่อยมาก แต่บางวันคนไข้เยอะจะเหนื่อยมากโดยเฉพาะช่วงเช้า ของวันจันทร์-ศุกร์ เพราะผู้ป่วยมาตามนัดของแพทย์ซึ่งเราจะไปประจำตรงนี้ด้วย คิดว่าจะทำงานตรงนี้ไปเรื่อยๆ แต่อีกใจหนึ่งอยากจะเรียนต่อ 2 ปี แต่สถานะลูกจ้างที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่สามารถลาเพื่อศึกษาต่อได้ แต่ก็คงต้องแลกเวรเพื่อไปศึกษาโดยแลกกับค่าตอบแทนที่ลดลง เพื่อให้ได้รับปริญญา ถ้าจบจริงๆ ก็น่าจะได้รับค่าตอบแทนที่มากขึ้น
- 119 views